นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ไม่ให้เกียรติประชาชน เพราะในสถานการณ์โควิด-19 สำนักงบประมาณตัดงบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงแทบทุกกรมทุกส่วน ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 คนที่ดูแลประชาชนคือกระทรวงสาธารณสุข
"ท่านบอกว่าจะไปใช้งบกลางก็เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เปรียบเหมือนส่งทหารไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ ไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกไปด้วย แล้วท่านคิดว่าศึกนี้จะชนะหรือ แบบนี้คือการจัดงบที่ไม่สนใจความรู้สึกประชาชน ไม่นึกถึงคนที่ทำงานอยู่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย งบกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาทถือว่าน้อยนิด สิ่งสำคัญคือเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยของแพทย์ 6 พันกว่าล้านบาท" นายชาดา กล่าว
นายชาดา กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดยังตัดแม้แต่งบแพทย์ปฐมภูมิที่ต้องดูแลประชาชนโดยตรง ตัดตรงนี้ถือว่าใจดำมาก
"หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่าหัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ" นายชาดา กล่าว
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า รู้สึกผิดหวังในการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นควรต้องจัดสรรไปที่กระทรวงหลักๆคือกระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขที่เห็นกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีการตัดงบกว่า 4 พันล้านบาท อีกทั้งค่าตอบแทนอสม.จำนวน 6 พันล้านบาททางสำนักงบประมาณก็โอนมาให้ไม่ครบ ทั้งยังตัดงบกรมควบคุมโรคอีก 500 ล้านบาท เช่นเดียวกับงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการจัดสรรงบที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สวนทั้งกับนโยบายในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ
ขณะที่สวัสดิการในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และอสม.โดยเฉพาะเบี้ยเสี่ยงภัยพบว่ากว่า 1 ปียังไม่ได้รับการจัดสรรงบในส่วนนี้
ส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่มีการระบุว่าจะมีการจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข 3 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดหวังได้ เพราะขึ้นอยู่กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ
นายภราดร กล่าวอีกว่า ในส่วนการจัดสรรงบฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่ได้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในปีที่แล้วมีการจัดสสรรงบประมาณเป็นจำนวน 4.8 พันล้านบาท แต่ปีนี้กลับถูกตัดเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรงบที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย