นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ว่า การจัดทำงบประมาณเปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่ต้องมีรากฐานและมีเสา 4 ต้นที่แข็งแรง หากเสาต้นใดต้นหนึ่งอ่อนแอบ้านก็จะพังทลายได้ การทำงบประมาณครั้งนี้ต้องตอบโจทย์ ต้องมองไปถึงอนาคต ต้องกระจายอำนาจ และต้องใช้งบประมาณอย่างเพียงพอ โดยมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 80% ต้องการเห็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขมากกว่าด้านอื่น การทำงบครั้งนี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะงบของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถูกตัดออก และกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ
อีกทั้งงบของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้เด็กมีคุณภาพในการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่งบปี 65 แจ้งว่าขอให้ตัดเลิกจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมองเกือบ 2,000 อัตรา ที่ทำมาตั้งแต่ปี 56 ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ วันนี้คนเหล่านี้กำลังจะตกงาน คำถามคือ จัดสรรงบตอบโจทย์หรือไม่
"ถ้าบ้านหลังนี้เราจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างเสารองรับน้ำหนักที่มั่นคงแข็งแรง บ้านของเราจะน่าอยู่ แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ขอฝากสำนักงบฯ อย่าให้ความเคยชินมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศของเรา" นายสิริพงศ์ กล่าว
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยถึงการขอเสนอจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่โจทย์ใหญ่ในการจัดทำงบประมาณปี 65 คือการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับถูกตัดงบประมาณไปกว่า 4,300 ล้านบาท จึงอยากย้ำถึงสำนักงบประมาณว่าขณะนี้เราต้องทำสงครามกับโรคที่ต้องใช้ความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นอาวุธในการต่อสู้ แต่สำนักงบประมาณกลับไม่เห็นความสำคัญจัดงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในลำดับ 6
นายกรวีร์ อภิปรายต่อว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานครล้มเหลวจากการไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทในการแก้ปัญหา เพราะเป็นอำนาจของศูนย์บริหารสสถานการณ์ดควิด-19 (ศบค.) และ กทม. แต่ทั้ง 2 ฝ่ายกลับบริหารงานไม่ชัดเจน ออกมาตรการไม่ตรงกันถือเป็นการบริหารงานอย่างบกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ ต่างจากการบริหารจัดการสถานการณ์ในต่างจังหวัดของหน่วยงานสาธารณสุขเอง ที่มีประสิทธิภาพ ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว