นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปราย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท มองว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีไปใช้จ่ายโดยไม่มีรายละเอียด โดยเสนอแนะให้รัฐบาลเปลี่ยนจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาเป็นพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 64 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สภาตรวจสอบรายละเอียดได้และเกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด
อีกทั้ง เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นเงินงบประมาณที่ประเทศต้องไปกู้มา และสุดท้ายประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมกันชดใช้หนี้ในอนาคตถึงรุ่นลูกหลาน
นอกจากนี้ มองว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 7.13 แสนล้านบาท ยังเหลือเงินอีก 2.9 แสนล้านบาทที่ยังใช้วงเงินได้
โดยหากย้อนไปที่พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 63 สะท้อนให้เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์และล้มเหลว โดยในส่วนของงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ตั้งงบไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายเพียง 1.16 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณเดิมยังใช้ไม่หมดและกลับมาของบประมาณเพิ่มอีก
ทั้งนี้ ยังพบว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และวัคซีนยังไม่เพียงพอ ทำให้คนติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า เงินกู้ที่ได้ไปไม่สามารถบริหารจัดการได้ และปล่อยให้เกิดการระบาดในระลอก 3 เพิ่มขึ้นอีก รวมไปถึงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ จนต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิด และนำไปสู่การสูญเสียของคนไทยที่ไม่ควรเกิดขึ้น
"ท่านได้ใช้เงินที่เป็นภาษีประชาชน เงินภาษีที่ต้องเสียดอกเบี้ย ท่านอ้างความจำเป็นเร่งด่วน แต่พอไปใช้จริงมันไม่เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและด้านเศรษฐกิจ"นายยุทธพงศ์ กล่าว
ส่วนงบประมาณด้านการช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 3 แสนล้านบาทในปี 64 สะท้อนจากเงินกู้ครั้งที่ผ่านมา พบว่า การเยียวยามีความล่าช้าและจำนวนเงินน้อยเกินไป และมีการเอาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอาเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ไปใช้ โครงการคนละครึ่งอีก 8 หมื่นล้านบาท
ส่วนงบประมาณด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1.7 แสนล้านบาท สะท้อนจากเงินกู้ครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีการโอนเงินออกไปใช้ในโครงการเยียวยาประชาชนแทน และมีการอนุมัติโครงการฟื้นฟูออกไปน้อยมาก เบิกจ่ายไปเพียง 7.1 หมื่นล้านบาท และโครงการที่มีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด แต่กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง