ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 270 ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 469 คน
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ ซึ่งวุฒิสภาได้นัดหมายประชุมวันที่ 14 มิ.ย. โดยหากวุฒิสภาผ่านความเห็นชอบจะส่งกลับให้คณะรัฐมนตรีต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จะรับข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตุ ข้อท้วงติง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินการ และปรับปรุงวิธีการทำงาน ซึ่งในพ.ร.ก.ฉบับนี้ จะลงไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น จะลงไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอแนะจากส.ส.ในเรื่องรักษาการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดทำโครงการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น
"ทุกข้อสังเกตุ ข้อเสนอแนะ เป็นประโยชน์ในการทำงานของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ที่ต้องกู้เงิน ในการกู้เงินนั้นทุกเม็ดเงินจะทำด้วยความรอบคอบ มีการติดตามสถานการณ์ตลาดเงินและตลาดทุนทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะของเราเป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นการบริหารที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ"นายอาคม กล่าว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่าภาระหนี้ดังกล่าวไม่เป็นภาระกับงบประมาณ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วน 54% ถ้าหากรวมวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณนี้คาดการณ์ว่าอยู่ที่ระดับ 58-59% ไม่เกิน 60%
ส่วนในอนาคตสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไรนั้น มีคณะกรรมการการเงินการคลังภาครัฐพิจารณากรอบหนี้สาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะจะเป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบตรงๆ เพราะรัฐบาลมีแหล่งเงินที่จะคืนอยู่แล้ว คือ ในสัดส่วนกองทุนฟื้นฟู ซึ่งเหลือเงินต้น 7 แสนล้านบาท ก็จะนำมาชำระหนี้ไม่ได้นำเงินงบประมาณมาชำระ อีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เอง เช่น บมจ.ปตท. (PTT) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมๆแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท