นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรค ซึ่งได้มีการจัดเตรียมไว้ทั้งหมด 6 ร่าง และส่งให้นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ในฐานะประธานวิปของพรรค ได้ไปพูดคุยกับพรรคร่วมอีก 2 พรรค ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย(ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) เพื่อหาความเห็นพ้อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันไปแล้ว และมีความเห็นชอบตรงกันหลายส่วน สำหรับส่วนที่ยังไม่เห็นพ้องก็จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เป็นร่างที่ทั้ง 3 พรรคร่วมมีความเห็นพ้องต้องกัน นอกจากนี้ก็ยอมรับว่า ลำพังเสียงของแต่ละพรรคทั้ง 3 พรรค ไม่พอที่จะยื่นเองได้ จึงต้องอาศัยความเห็นพ้องจาก 3 พรรค เพื่อยื่นต่อรัฐสภา ทั้งนี้จะได้มีการพูดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 16 มิ.ย.นี้
นายราเมศกล่าวต่อไปว่า 6 ร่าง ของพรรคประชาธิปัตย์นี้ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่การแก้ไขโดยคิดแต่เรื่องโครงสร้างทางการเมืองอย่างเดียวคงไม่ได้ ดังนั้นในร่างฉบับแรก จึงได้กล่าวถึงสิทธิของพี่น้องประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันลดน้อยถอยลง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมชนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักประกันในเรื่องสิทธิชุมชนได้ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องสิทธิของผู้บริโภค
นอกจากนี้จากการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นว่ายังมีเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐธรรมนูญควรมีระบุไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชนว่า ประชาชนในแผ่นดินนี้ควรได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งในร่างแรกของพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการ และเห็นแก่ประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
สำหรับร่างที่ 2 ของพรรค ที่เป็นเรื่องระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คนจากเขตเลือกตั้ง และ 100 คน จากบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนกระบวนการคำนวณสัดส่วนคะแนนนั้นจะให้มีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ
ส่วนร่างที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา เชื่อมโยงกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเตรียมร่างไว้จากเดิมที่มีการเสนอบัญชีนายกฯ ไว้ ก็ได้มีการปรับแก้ว่า บุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่เสนอจากพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะถือว่าได้ผ่านการตรวจสอบ และผ่านการเลือกจากประชาชนมาแล้วส่วนหนึ่ง และมาตรา 272 ไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี
ร่างที่ 4 เป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้ว คือตัดอำนาจของวุฒิสมาชิกออกในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออก และใช้จำนวนสมาชิก 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่
ร่างที่ 5 ในเรื่องการดำเนินคดีกับ ปปช. ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 236 ระบุว่าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องไปให้ประธานรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเห็นด้วยจะส่งดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งหากเราต้องการให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นไปอย่างเข้มข้น ก็ไม่ควรให้เป็นเช่นนี้ เพราะประธานรัฐสภาเป็นคนของพรรคการเมือง หากวันหนึ่งไม่ใช่ ท่านชวน หลีกภัย และเป็นคนอื่นที่ไม่มีความตรงไปตรงมาก็จะทำให้เกิดการต่อรองในการดำเนินคดีได้ ดังนั้นจึงต้องให้มีการแก้ไขให้เป็นการยื่นดำเนินคดี ปปช. ต่อประธานรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภาจะเป็นเพียงคนกลางในการส่งต่อไปยังศาล แล้วให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยต่อไป
ร่างที่ 6 เป็นร่างที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งนายถวิล ไพรสณฑ์ เป็นผู้ดูเรื่องนี้มาตลอด จึงต้องการให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพียงอย่างเดียว ไม่ควรเขียนห้อยท้ายว่า หรือด้วยวิธีการอื่น จึงต้องแก้กลับมา เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้ว ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริงด้วย