ฝ่ายค้านนัดยื่นญัตติแก้รธน. 16 มิ.ย.นี้ เห็นพ้องรื้ออำนาจส.ว.

ข่าวการเมือง Monday June 14, 2021 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ประชุมและมีมติร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยให้ประชาชน โดยจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐสภาต้องจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเสียก่อน เมื่อพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงค่อยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

สำหรับรายละเอียดญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมี 3 เรื่อง ดังนี้

1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเห็นพ้องที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ร่วมกัน

2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนการยื่นแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอญัตตินี้ ซึ่งจะเป็นการยืนยันหลักการเดิมที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอในสมัยประชุมที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถร่วมเสนอญัตติได้

3. ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของสิทธิเสรีภาพประชาชน , ระบบการเลือกตั้ง , การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , การแก้ไขอำนาจของวุฒิสภา และบทบัญญัตติที่นิรโทษกรรม คสช. ทั้งหมดนี้ พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอญัตติ โดยไม่ปิดโอกาสพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะมาร่วมกันเสนอญัตติ

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป้าหมายและโจทย์ใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่ 250 ส.ว.ที่มีส่วนในการเลือกนายกฯ นี่คือจุดร่วมที่พรรคก้าวไกลเสนอมาตั้งแต่เป็นอนาคตใหม่

"เราจึงจะลงชื่อร่วมเสนอเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นร่างตามลงมาก็มีส่วนที่สำคัญ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราไม่อยากให้หลุดประเด็นไปคือเรื่อง 250 ส.ว. เราจึงเน้นเรื่องนี้ก่อน"

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนเองสนับสนุนหลักการในระบบรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ ที่ฝ่ายค้านได้รับการประสานงานจากเลขานุการของประธานรัฐสภาว่า จะนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาก่อน โดยทางรัฐบาลขอเป็นวาระพิเศษ ตนเองเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาครั้งนี้ ไม่ได้มีฉบับของรัฐบาลเลยแม้แต่ฉบับเดียว แต่เป็นฉบับของพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น

ตนเองอยากขอร้องให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ในการบรรจุวาระ ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่รัฐสภาจะนำเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาก่อนเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ถ้ารัฐสภายอมให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกบรรจุเข้ามาเป็นวาระพิเศษได้แปลว่า รัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา อยากให้ประธานวิปฝ่ายค้านประสานกับทางประธานรัฐสภาให้รักษาเกียรติของรัฐสภาไว้ก่อน

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขวิกฤติของประเทศชาติ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ทางพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่แจ้งมา โดยคาดว่าในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ว. ซึ่งทางนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แจ้งว่าวุฒิสภาติดภารกิจในวันที่ 29 มิ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ