กลุ่ม Re-Solution ตั้งโต๊ะระดมรายชื่อปชช.ดันร่างแก้ รธน.สกัดสืบทอดอำนาจรอบใหม่

ข่าวการเมือง Tuesday June 15, 2021 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่ม Re-Solution เปิดแถลงข่าวรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในแคมเปญ "ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์"พร้อมเปิดรายชื่อ 20 คนแรกที่ร่วมกันเดินหน้าผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของของประชาชนเป็นร่างหลัก ประกอบด้วย นักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม และ คนหลากวงการ ได้แก่

1.นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่ม Re-Solution และเลขาธิการคณะก้าวหน้า 2.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 3. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 4.น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 5.นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre-Doctoral Fellow, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6. น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า 7.นายณัชปกร นามเมือง จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 8. นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw 9.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล. 10. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล

11. น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ 12.นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13. นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ 14.น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร 15.นางอรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน 16. นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ 17.น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ เฌอเอม นางแบบและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิชาติพันธุ์ 18. น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด แกนนำกลุ่มราษฎร 19. น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ 20. นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นายปิยบุตร ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า หากรัฐธรมนูญ 2560 หรือฉบับสืบทอดอำนาจยังอยู่ ประเทศไทยจะไม่กลับมาปกติแบบนานาอารยะประเทศ แต่การจัดทำใหม่ทั้งฉบับถูกคว่ำไปด้วยการเล่นแร่แปรธาตุของสมาชิกรัฐสภา และมีทีท่าว่าจะหันมาแก้รายมาตราแทน

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้เป็นการเล่นละคร ตบตา ปาหี่ กันมาตั้งแต่ต้น เห็นชัดว่ารัฐบาลเสียงข้างมากและ ส.ว. ไม่มีความจริงใจแก้ไขตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาทำราวกับว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือการจะทำใหม่ทั้งฉบับจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์การเมืองบีบงวดมากขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีปัญหากันเองมากขึ้น จึงเริ่มกลับมาคิดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ

"อยากชวนพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ที่พรรคต่างๆ มีการเสนอมาหลายร่าง ตามแต่ละพรรคนั้นๆ จะออกแบบ แต่ความสำคัญอยู่ที่ วัตถุประสงค์ลึกๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งคิดว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านบางพรรค ต้องการเน้นไปที่ระบบเลือกตั้ง เรื่องอื่นเป็นเพียงองค์ประกอบ เป็นเพียงเครื่องประดับที่ตกแต่งเท่านั้นเอง และท้ายที่สุด ก็คาดการณ์ว่าการแก้ระบบเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสสำเร็จด้วย และถ้าหากการแก้ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ กลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 จริง นี่คือการเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจอีกรอบ" ปิยบุตร กล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่กำลังเตรียมยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จากข้อมูลล่าสุดมีชุดข้อเสนอจาก 4 กลุ่ม จำนวน 14 ร่าง รวม 18 ประเด็น ประกอบด้วย (1) พรรคพลังประชารัฐ 5 ประเด็น (2) พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา 7 ประเด็น (3) พรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค 5 ประเด็น และ (4) กลุ่ม Re-Solution ผ่านการรวบรวมรายชื่อจากประชาชน 4 ประเด็น

ขอแบ่งข้อเสนอเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภทตามความเร่งด่วน ได้แก่ ข้อเสนอที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และแก้ต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ต้องทำทันที เพราะมีเนื้อหาตัดอำนาจหรือปรับโครงสร้างที่มาขององค์กรหรือกลไกต่างๆที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และถูกระบอบ "ประยุทธ์" ใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจหรือสกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม เช่น ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้ง ดังนั้น หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ไม่มีการแตะเรื่องวุฒิสภา ก็ไม่ถือว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้นตอปัญหา

ประเภทที่สอง คือ ข้อเสนอที่อาจส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ ข้อเสนอประเภทนี้ถ้าทำได้ก็ต้องทำทันที แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้เก็บไปคุยตอนมี สสร. มาร่างฉบับใหม่ เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้รัดกุมขึ้น การส่งเสริมการกระจายอำนาจการเพิ่มความเข้มข้นของกลไกการตรวจสอบการทุจริต

สุดท้ายคือข้อเสนอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตย และอาจเอื้อประโยชน์ต่อบางพรรคการเมืองโดยไม่มีหลักการทางประชาธิปไตยมารองรับ ข้อเสนอประเภทนี้เป็นข้อเสนอที่ไม่ควรทำตอนนี้เด็ดขาด แต่ควรไปคุยตอนมี สสร. มาร่างฉบับใหม่ เช่น ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐเรื่องการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 ให้ ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน หรือ การทำงานของหน่วยงานราชการ ได้อย่างสะดวกสบายขึ้น

นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับระบบเลือกตั้ง ณ ปัจจุบัน แต่ในบรรดาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ใช้ระบบเลือกตั้งแตกต่างกัน มีข้อดีข้อเสียสมควรต่อการถกเถียง บางคนอาจมองว่าระบบเลือกตั้งปัจจุบันมีบัตรใบเดียวอาจมีข้อเสีย แต่ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบก็ใช่ว่าจะมีทางเลือกเดียวที่จะต้องกลับไปใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นข้อเสนอของพลังประชารัฐ เพราะระบบนี้จะทำให้มีคะแนนตกน้ำ และพรรคใหญ่อาจได้ ส.ส.สัดส่วนสูงกว่า ขณะที่ระบบบัตร 2 ใบแบบสัดส่วนที่ใช้ในประเทศเยอรมัน ยังคงไว้ซึ่งหลักการว่าไม่มีคะแนนเสียงที่ตกน้ำ และทุกพรรคจะได้จำนวน ส.ส. ในสภาในสัดส่วนที่เท่ากับสัดส่วนคะแนนที่พรรคได้ในการเลือกตั้ง

"ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ปัญหาหลักของการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ใช่เรื่องของระบบเลือกตั้ง แต่คือการทำงานของ กกต.ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่าได้ปฏิบัติงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีข้อครหาว่าเอื้อบางพรรคการเมือง และการบิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วที่ทำให้ผลพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้เรื่องนี้ เราควรไปแก้เรื่องที่มาของ กกต. มากกว่า" นายพริษฐ์กล่าว

สำหรับพรรคการเมืองและประชาชนมี 3 แนวทางที่ต้องร่วมกันทำเพื่อสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการสืบทอดอำนาจ โดยแนวทางแรกคือทุกพรรคต้องร่วมกันคว่ำข้อเสนอหรือร่างของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของรัฐธรรมนูญเรื่องการสืบทอดอำนาจ แม้กระทั่งข้อเสนอพื้นฐานที่สุดเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. เลือก นายกฯ ก็ไม่ถูกรวมอยู่ในข้อเสนอ แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์ตนเอง ผ่านการปรับระบบเลือกตั้งให้เป็นระบบที่พวกเขามองว่าตัวเองได้เปรียบ หรือ ปรับกฎระเบียบให้ ส.ส. สามารถเข้ามายุ่งกับการใช้งบประมาณ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร จนอาจนำไปสู่ความได้เปรียบทางการเมืองของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล

"แม้หลายคนอาจรู้สึกท้อกับระบบรัฐสภา ที่ถูกทำให้มีสภาพเป็นเหมือน ?สภาตรายาง? แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 256 คือการกำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ จะไม่สามารถผ่านวาระที่ 3 ได้ หากไม่ได้รับเสียงเกิน 20% จาก ส.ส. ฝ่ายค้าน หรือคิดเป็น 43 คน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่พรรคร่วมฝ่ายค้านผนึกกำลังกันคว่ำร่างฉบับนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ก็จะทำให้ร่างฉบับนี้ไม่สามารถผ่านได้ตามอำเภอใจของระบอบประยุทธ์ ถึงจะมี ส.ว. ในมือถึง 250 คนก็ตาม" นายพริษฐ์กล่าว

แนวทางที่ 2 คือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ควรร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพราะหากไม่ระมัดระวัง อาจเข้าทางระบอบประยุทธ์ แม้หลายร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอประเด็นที่มุ่งไปที่ต้นตอของปัญหา แต่หากตั้งหลักไม่ดี มีโอกาสสูงที่ร่างเหล่านี้จะถูกบล็อกโดย ส.ว. และร่างเดียวที่จะผ่านจะเป็นแค่เรื่องระบบเลือกตั้งที่ไม่แตะที่ต้นตอของปัญหา

ส่วนแนวทางที่ 3 คือการเชิญชวนประชาชน มาร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-Solution ซึ่งยืนยันมาตลอดว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเฉพาะประเด็นที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ ได้แก่ (1) "ล้ม" วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพื่อเดินหน้าสู่สภาเดี่ยว (2) "โละ" ศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ ด้วยการปฏิรูปที่มา อำนาจ และ การตรวจสอบ (3) "เลิก" ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูป ที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และ (4) การ "ล้าง" มรดกรัฐประหาร เพื่อหยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย และเอาทหารออกจากการเมือง

ถึงแม้เรามีอีกหลากหลายประเด็นที่อยากแก้ไข เช่น การขยายสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ หรือ การปรับระบบเลือกตั้ง แต่ประเด็นเหล่านี้ควรถูกนำไปพูดและถกเถียงในเวทีของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในวันที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า

"อย่าปล่อยให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการแก้แค่รายละเอียดที่เอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม อย่าปล่อยให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการแก้แค่ระบบเลือกตั้งที่ไม่แตะต้นตอของปัญหา มาร่วมกันทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการขจัดกลไกที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในการสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เพื่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เปรียบ แต่เพื่อให้ทุกพรรคแข่งขันกันบนกติกาที่เป็นธรรม บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชน ที่มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกัน" นายพริษฐ์ กล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 9 เดือนจะมีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นจึงอยากจะชวนประชาชนที่รักความยุติธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยทุกคน ช่วยสนับสนุนกลุ่ม Re-Solution ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญที่จะล้มศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ล้างมรดกรัฐประหาร ล้มวุฒิสภา

"นี่คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มุ่งขจัดต้นตอของปัญหาในการสืบทอดอำนาจ ผมอยากจะขอเสียงจากทุกท่านร่วมลงชื่อไปกับพวกเรา หนึ่งเสียงของท่านมีความหมาย หนึ่งเสียงของท่านเป็นพลังสนับสนุนวาระที่สำคัญจำเป็นของสังคมไทยได้ ขอพลังจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution ในครั้งนี้ ร่วมกันกดดัน ส่งเสียงของพวกเราประชาชนดังๆ ว่าเราต้องการเห็นประชาธิปไตย ว่าเราไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์อีกแล้ว" นายธนาธรกล่าว

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ หนึ่งในแกนนำราษฏร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นดอกผลมาจากการรัฐประหาร ให้กำเนิดรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ โดยที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลไกประชาธิปไตยเป็นไปได้ยากเย็นแสนเข็ญและถูกขัดขวางมาโดยตลอด ดังนั้นทุกคนจะต้องส่งเสียงเรียกร้องลงมือทำ เข้าชื่อและผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ให้เป็นร่างหลักที่จะพิจารณาอยู่ในสภา ทั้งหมดนี้เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ