นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวว่า กรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมากล่าวหานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขัดขวางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ยอมบรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับว่า การกล่าวหาว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชนถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งสิ้น โดยการทำหน้าที่ของนายชวน ยึดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ให้เกียรติและเคารพทุกคน สร้างบรรทัดฐานของรัฐสภา ยึดมั่นหลักนิติธรรม
เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบการพิจารณาด้วยเหตุและผล โดยยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับประกอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยจึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ฉะนั้นประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อ 119 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ได้ จึงจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา
"เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาได้" นายราเมศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่ตกไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 105 โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะตกไปแค่ 2 กรณี คือ 1.รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการ 2.รัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบในวาระที่สาม เมื่อร่างยังไม่ตกไป หากต่อไปมีข้อกฎหมายในเรื่องว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป