รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.รวม 13 ฉบับ แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ เสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงว่า ร่างที่พรรค พปชร.เสนอ เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คอยขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา พรรคฯ ตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้สำเร็จ โดยหวังจะเปลี่ยนเป็นผู้นำในการแก้ไข หากประเด็นที่แก้ไขเพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง และไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน มั่นใจว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งซีก ส.ส.และส.ว. น่าจะช่วยกันสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับให้สำเร็จลุล่วงได้
สำหรับร่างฯ ของพรรค พปชร.มี 5 ประเด็น 13 มาตรา ประกอบด้วย 1.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเรื่องกระบวนการยุติธรรม 2.แก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้บัตร 2 ใบ มี ส.ส. แบ่งเขต 400 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน 3.แก้ไขการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ โดยมาตรา 144 ที่ ส.ว.มีความห่วงใยอยากให้คงหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นไว้ตามเดิมนั้น ขอให้สบายใจได้ เพราะตนขอยืนยันอีกครั้งว่าในการพิจารณาวาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) จะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 144 ให้กลับไปตามหลักการเดิม
4.แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งมาตรา 185 มีปัญหาการเรื่องการตีความมาก ซึ่งการเสนอแก้ไขมาตรานี้เมื่อได้รับการทักท้วงจากส.ว. ว่าอาจทำลายหลักการก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ ก็รับปากว่าเมื่อสภารับหลักการวาระ 1 แล้ว ในวาระ 2 จะผลักดันแก้ไขมาตรา 185 ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงไว้ตามเดิม แต่ให้ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ ส.ส. ส.ว. ต้องไปติดต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
และ 5.การเสนอแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 270 อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
"พรรคพลังประชารัฐหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา"นายไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้แจงว่าการขอแก้ไขกลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก
ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จุดยืนของพรรคฯ มองว่าวุฒิสภาจำเป็นและประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัด เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน
"การแก้ไขมาตร 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้นเพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือลงเลือกตั้ง ก็ได้ และหลังเลือกตั้งบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน นอกจากนั้นการปลดล็อคมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคฯ มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ เพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรค พปชร.ที่มีปัญหามาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถแปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมได้ในวาระสอง การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20% ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย.
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างฯ ของพรรค พปชร.แก้รายมาตราเพื่อสืบทอดอำนาจของตนเอง เพราะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่หมดประโยชน์ และต้องการแก้เพื่อโกง ทั้งการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 เพื่อให้สามารถแทรกแซงก้าวก่าย และโยกงบประมาณเข้าพื้นที่ หรือกลุ่มตัวเอง
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลสนับสนุนญัตติการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันคือกลไกการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
"การแก้รัฐธรรมนูญหลายฉบับและหลายมาตรา แค่ปรับแต่งให้กลายพันธุ์ดูดี น่าคบหาเท่านั้น ผมขอถามจะเล่นปาหี่อีกนานไหม ผมขอเรียกร้องให้กลับสู่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการใช้ช่องทางประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตัวแทนของประชาชน คือ ส.ส.ร. และไม่จำกัดต่อการยกเลิกหมวด1 และหมวด 2 เพราะควรให้ประชาชนหาทางออกตัวเอง
นอกจากนั้นพรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา เห็นชอบ การยกเลิกมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หากไม่เห็นด้วย เท่ากับรัฐสภาได้ละครปาหี่ประชาชน กินรวบอำนาจของประชาชนทั้งกระดาน ผมขอให้พวกท่านหยุดเป็นหางเครื่องหลักแสนเพื่อร่วมสืบทอดอำนาจ คสช." นายรังสิมันต์ กล่าว
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 4 ร่างว่า ร่างที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรค 5 ของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 45 และมาตรา 47 เพิ่มสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นมาตรา 49/1 และเพิ่มอำนาจของคณะกรรมาธิการที่จะเรียกเอกสารหรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129
ร่างที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมระบบการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 91 และมาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94, ร่างที่ 3 (1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และ (2) ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และร่างที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม (1) หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเลิกมาตรา 65 เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (2) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 152 และมาตรา 162 โดยตัดคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 (3) ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 275 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 และเป็นการยกเลิกอำนาจของ ส.ว.บางเรื่อง และ (4) ยกเลิกมาตรา 279
"การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับข้างต้น สืบเนื่องจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ได้รับการบรรจุ จนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฝ่ายกฎหมายรัฐสภาอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย ดังนั้นเพื่อหาทางให้ประเทศแม้จะมีเพียงบางส่วนก็จำเป็นต้องทำ ผมจึงหวังว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 4 ฉบับจะได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมของรัฐสภาต่อไป" นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรคเสนอร่างฯ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แก้ไขมาตรา 55 โดยเพิ่มมาตรา 55/1 ให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องเรียกร้อง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐจัดเงินสดให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,763 บาท/คน/เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนจะทำอย่างไร รวมถึงในอดีตหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ จบปริญญาตรีได้เงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่ามาตรการยูบีไอ คือการให้เงินสดแก่ประชาชน หลักประกันรายได้ถ้วนหน้าแก่ประชากรผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน น่าจะแก้ปัญหายากจนได้อย่างแท้จริง
"หลักประกันถ้วนหน้ารักษาทุกโรค ในอดีตวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เกิดขึ้นไม่ได้ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงและทำได้ ถ้าบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เจ็บก็หายได้ แต่ความจนยังอยู่ ถ้าอยากให้คนไทยไม่เจ็บและไม่จนด้วย ผมเห็นว่าสมควรทำเรื่องนี้ โดยกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐช่วยเหลือเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เกิดขึ้นจริง" นายศุภชัย กล่าว
ร่างฯ ฉบับที่สอง เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมี สำหรับประเทศไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่เหมาะสม จึงเห็นสมควรให้แก้มาตรา 65 กำหนดยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และร่างฯ ฉบับที่สาม เสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ คือ มาตรา 159 ที่มานายกรัฐตรี และยกเลิก มาตรา 272 การให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ