ส.ส.-ส.ว. ค้านแก้รัฐธรรมนูญม. 144,ม. 185 หวั่นนักการเมืองล้วงลูกงบประมาณ

ข่าวการเมือง Thursday June 24, 2021 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.05 น.ที่ผ่านมา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม และก่อนเข้าสู่การอภิปราย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล หารือถึงการทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยร้องขอให้นายพรเพชรควบคุมการประชุมให้ดี ไม่ให้เกิดการปะทะคารมระหว่าง ส.ส. และส.ว.ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการอภิปรายและเวลาที่จะใช้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้เริ่มลงมติช่วงเวลา 16.00-22.00 น.

จากนั้นได้กลับเข้าสู่การอภิปราย โดยในการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเสนอแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 ที่เปิดช่องให้นักการเมืองแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ รวมถึงล้วงลูกงบประมาณแผ่นดิน การปรับระบบเลือกตั้ง และการแก้ไขมาตรา 45 ที่ตัดสิทธิของสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองต่อการกำหนดตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งและนโยบายของพรรการเมือง ทั้งนี้มี ส.ว.ที่แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่ให้ใช้การคำนวณคะแนนระบบเอ็มเอ็มพีมาใช้ในการเลือกตั้งใหม่ อาทิ นายพลเดช ปิ่นประทีป ส.ว.เป็นต้น

นายถวิล เปลี่ยนสี ส.ว.อภิปรายว่า ตนเองรับไม่ได้ที่จะแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เพราะนักการเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับข้าราชการ เพราะข้าราชการไม่ใช่พนักงานบริษัท ดังนั้นควรให้ข้าราชการทำงาน และเป็นไปด้วยระบบคุณธรรม ไม่มีการแทรกแซง ส่วนกรณีที่เสนอให้ปิดสวิตซ์ ส.ว.นั้นขอให้พูดคุยด้วยเหตุผล และตนเองขอกระซิบบอกว่า ส.ว.ปิดสวิตซ์ตัวเองได้ ไม่มีใครไล่ปิดอีกต่อไป

"ส.ว.โดนด่าฟรี ทั้งที่ตอนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นด้วยเสียง ส.ส.ไม่ใช่เสียงของ ส.ว. แบบนี้เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กลับโดนด่าฟรี ผมยอมรับว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน การเห็นชอบนายกรัฐมนตรีไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นสถานการณ์ปกติไม่ควรมี ดังนั้นขอให้ตั้งสติ พิจารณาให้เป็นธรรม ใจกว้างว่า ความจริงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ตามหลักการที่สวยหรูหรือไม่ ที่ผ่านมาบ้านเมืองมืดมน ไม่ใช่ฝีมือพวกผม แต่มีกลุ่มที่อาศัยประชาธิปไตยบังหน้า โกงกิน คอร์รัปชั่น ทำบ้านเมืองเสียหาย และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม จนมีผู้ประท้วงจำนวนมาก ผมยอมรับว่ามีนักการเมืองที่ดี แต่มีไม่พอต้านทานคนไม่ดี ดังนั้นบทเฉพาะกาล จึงเขียนให้มี ส.ว.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี" นายถวิล อภิปราย

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว.อภิปรายว่า ในฐานะที่ตนเองเคยปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และได้ร่วมประชุมกับนานาประเทศเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นมาอย่างต่อเนื่องนั้น ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าการคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ดังนั้นรัฐภาคีสหประชาชาติจึงมีมติเมื่อปี 2539 กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีหลักการคือ 1.ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซื่อสัตย์สุจริต 2.ไม่พึงให้การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อกลุ่มหรือบุคคลใดโดยไม่ควร และ 3.ไม่พึงใช้อำนาจหน้าที่ตนในทางไม่ชอบ

นอกจากนั้นในปี 2546 รัฐภาคีสหประชาชนยังให้ความเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติดังกล่าว และรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องขัดกันระหว่างผลประโยชน์ในมาตรา 184-187 นอกจากนั้นในมาตรา 144 ยังมีการบัญญัติห้าม ส.ส. ส.ว.แทรกแซงการจัดงบประมาณ ซึ่งตรงกับลักษณะการขัดกันระหว่างผลประโยชน์เพราะเป็นการนำโครงการสาธารณะลงในพื้นที่เลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

นายปานเทพ กล่าวว่า สรุปแล้วการเสนอขอแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตน พวกพ้อง และพรรคการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตราจึงขัดต่อบทบัญญัติในอนุสัญญาสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ด้อยลง ขาดความเชื่อถือศรัทธาในการดำเนินงานการค้าระหว่างประเทศ ตนเองจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ รวม 21 คน ช่วยกันทำคลอดรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเวลากว่า 4 ปี ซึ่งมีลูก 2 คน ที่วันนี้ทะเลาะกันทุกครั้ง ทั้งคำพูด และการแสดงออก ลูกคนคนโต คือ ส.ว. มีทั้งหมด 250 คน มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี นี่คือสิ่งที่ กรธ.ฝากเป็นบาดแผลให้กับ ส.ว.โดยไม่ตั้งใจ ส่วน ส.ส. 500 คน คือลูกคนเล็ก แต่พ่อแม่รักไม่เท่ากันปัญหาจึงเกิดขึ้น หลายคนบอกว่าการแก้ปัญหาของเรื่องนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญ 60 โดย รธน.60 มี 16 หมวด 279มาตรา ซึ่งมีหลายฉายาที่ถูกเรียก ทั้งรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญคสช. รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

ทั้งนี้ ส.ส.ได้เสนอแก้ไข 13 ฉบับ โดยพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ และพรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ ซึ่งตนเองขออภิปรายร่าง รธน.ฉบับที่ 7 เรียกว่า ฉบับเพื่อปากท้องประชาชน ที่พรรคภูมิใจไทย ขอแก้ไข หมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่รัฐ มาตรา 55/1 กำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอันจำเป็นต่อการดำรงชีพทั่วถึง รัฐต้องสนับสนุนประชาชนที่มีรายได้ขั้นต่ำกว่าเกณฑ์จากตัวชี้วัดรายได้ขั้นต่ำของสภาพัฒน์ฯ กว่า 6 ล้านคน

"เราเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับกินได้ ที่ไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง แต่แก้เพื่อคนจนที่หาเช้ากินค่ำ เป็นรัฐธรรมนูญยาใจคนจน จึงขอให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาฯ สนับสนุนร่างแก้ไขฉบับนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คนจน" นายณัฏฐ์ชนน กล่าว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายเรียกร้องให้รัฐสภาปฏิเสธร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐที่ส่อเจตนากินรวบสภา โดยโหวตคว่ำในวาระหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐสภาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชน ใช้การออกเสียงประชามติ ถามประชาชนให้มี ส.ส.ร.ออกแบบระบบเลือกตั้งให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม พร้อมเสนอแนะให้ปรับปรุงการออกแบบระบบเลือกตั้ง จากที่เสนอให้ใช้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีปัญหาและจุดอ่อน พร้อมเสนอให้ใช้ระบบการคำนวณคะแนนแบบเอ็มเอ็มพี คือ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส.เขต และ บัญชีรายชื่อ ส่วนการคำนวณหา ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีในสภาฯ ให้ใช้คะแนนจากการเลือกบัญชีรายชื่อมาคำนวณหา ส.ส.ที่พึงมี หากมีพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้ง 20% จะได้ ส.ส.เข้าสภา 20% จะทำให้โกงด้วยสูตรคำนวณไม่ได้ และเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา สำหรับ ส.ส.เขตที่ชนะให้ถือว่าได้เป็น ส.ส.และหากพรรคใดได้ ส.ส.ไม่ครบตามจำนวนที่พึงมีให้เติมเต็มจากบัญชีรายชื่อตามลำดับ

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กรณีที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐที่ขอแก้มาตรา 144 และ มาตรา 185 อาจจะมีปัญหาว่า ในชั้นกรรมาธิการจะปรับแก้ได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นการแก้ไขที่เกินหลักการ ดังนั้นหากไม่รับในเรื่องการออกแบบของระบบเลือกตั้งยังกำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ