นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลหรือไม่ว่า เหตุการณ์สภาล่มไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งถ้านับกันในสมัยประชุมนี้เพิ่งเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังมีเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 ด้วยซึ่งต้องเข้าใจ เพราะการประชุมหลายอย่างสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ได้ แต่สภาฯ ประชุมแบบออนไลน์ไม่ได้ ดังนั้นหากมีคนกลัวเรื่องความเสี่ยงจากโควิดก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเป็นเพราะกลัวโควิด หรือขัดแย้งกฎหมาย
"คงไม่ได้ล่มบ่อยมั้ง นานๆ ล่มที สมัยประชุมนี้เพิ่งล่มครั้งแรก มันมีเหตุโควิดเราต้องเข้าใจ เพราะการประชุมหลายอย่าง ขนาด 5 คน 10 คน 20 คนเขายังประชุมทางออนไลน์ แต่สภา ประชุมออนไลน์ไม่ได้ แล้วคนเป็นร้อยมา ถ้าเขากลัว ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร แม้ว่าทางสภาจะบอกว่า ไม่ต้องกลัวมีมาตรการ แต่ผมไม่รู้ว่าเขากลัวโควิด หรือขัดแย้งทางกฏหมาย" นายวิษณุ กล่าว
ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่กระทบกระบวนการของสภา โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณากฎหมายงบประมาณ โดยกฎหมายร่างงบประมาณยังไม่ถึงขั้นตอนการลงมติ และยังมีกฎหมายอื่นที่สำคัญ ต้องประชุมร่วมรัฐสภา เช่น ร่างกฎหมายยาเสพติดที่ค้างอยู่
ส่วนกรณีที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่าการทำให้สภาล่ม เป็นแท็คติกที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาร่างกฎหมายวัตถุอันตราย ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งสมาชิกยังตกลงกันไม่ได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรณีเมื่อกฎหมายใดมีความขัดแย้ง เราเคยเห็นการประชุมสภาที่ใช้วิธีการวอล์คเอ้าท์ จนทำให้การประชุมล่ม หรือที่เคยทำกันมา คือ นั่งอยู่ และลุกขึ้นขอให้นับองค์ประชุม ก่อนจะเดินออกทั้งหมดเหลือไว้ 1 คนเพื่อเป็นพยาน หรืออยู่กันครบ แต่ไม่ขานชื่อ
"สิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคของสภา อย่าถือเป็นเรื่องตื่นเต้นอะไร แต่หากต่อไปเป็นเรื่องของกฎหมายสำคัญ อย่างนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ อันนี้อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะมาตรา 6 เถียงกันมาหลายวันแล้ว ผมยังนึกในใจเลยว่า ถ้าไม่มีเรื่องโควิดเกิดขึ้น ก็นั่งกันอยู่ ใครยอม ใครไม่ยอม คงมีคนวอล์คเอาท์อยู่ดี" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนเมื่อถามว่าร่างกฎหมายตกไป จะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า หากเป็นกฎหมายการเงินไม่ผ่านวาระ 1 ตามธรรมเนียม และมารยาทที่ถือกันมา รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ลาออก หรือยุบสภา เพราะถือว่าเหมือนรัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวผ่านวาระ 1 ไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนของกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงได้
ทั้งนี้ นายวิษณุ ไม่ทราบว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้บทลงโทษหลังสภาล่ม ด้วยการติดชื่อประจานว่ามี ส.ส. คนไหนบ้างที่ไม่แสดงตน โดยนายวิษณุ ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้