โฆษกรัฐบาลเผย กกต.ขอความร่วมมือจาก ครส.ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการทำงาน

ข่าวการเมือง Wednesday October 24, 2007 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์สร้างความรู้ความเข้าใจในการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ขอความร่วมมือไม่ให้คณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงขายเสียง(ครส.) เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ กกต.และไม่ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งแทน กกต.
แนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสำนักคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน(ปปง.) ที่จะให้รางวัลนำจับหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งจะทำงานร่วมกับส่วนราชการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น
วันนี้ ครส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไว้ 2 เรื่อง คือ ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และยุทธศาสตร์การส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่ง ครส.จะประชุมทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการทำงาน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหยิบยกกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ออกมาเปิดเผยเอกสารลับขึ้นมาหารือ
ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ครส.เปิดเผยว่า ยังไม่ได้วางกรอบนโยบายในการทำงานที่ชัดเจน เพียงขอความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเชื่อว่าเวลาที่เหลืออยู่จะสามารถรณรงค์ประชาสัมพันธ์ได้ทัน และ ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการเรื่องช่องทางที่จะให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง
ส่วนนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน ครส.กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณาโครงการที่จะใช้รณรงค์ในเรื่องดังกล่าวแล้วให้นำกลับมาเสนอที่ประชุม ครส.ในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต่างๆ นั้นหากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายไม่จำเป็นต้องเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจาก ครส.
"หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล ส่วนผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งหรือเตรียมซื้อสิทธิ์ขายเสียงน่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องวิตกกังวล" นายธีรภัทร์ กล่าว
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจะเป็นงบปกติของแต่ละกระทรวง ซึ่งทุกกระทรวงจะดำเนินการรณรงค์ภายใต้กรอบกฎหมาย และขอให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางเพื่อให้เกิดความยุติธรรม โดยไม่ได้หยิบยกการทำงานแบบบุรีรัมย์โมเดลที่ใช้เป็นแนวทางในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมาหารือในที่ประชุม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ