กลุ่ม CARE ส่งจม.ถึงนายกฯยื่นข้อเสนอบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-ยุบศบค.ให้สธ.จัดการ

ข่าวการเมือง Sunday July 18, 2021 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

​กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เปิดจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ส่ง​ข้อเสนอแนะเพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ลุกลามไปทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนอกพื้นที่ดังกล่าว สามารถรับมือกับโรคระบาดในระยะแรกได้เป็นอย่างดีด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง จนได้รับคำชื่นชมในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีกหลายระลอกและเป็นสถานการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในประเทศโดยเฉพาะในด้านสุขภาวะ และ เศรษฐกิจ

กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ได้เฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาด และ การบริหารจัดการของรัฐบาลในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้อย่างใกล้ชิด มีความเห็นว่า แม้รัฐบาลจะมีความพยายามรับมือกับสถานการณ์ แต่กลับเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการบริหารจัดการของรัฐบาลมีข้อบกพร่องและมีความไม่ชัดเจนในหลายทิศทาง เสมือนไม่เข้าใจวิธีบริหารจัดการวิกฤตและมีความเข้าใจผิดพลาดบางประการเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อ

​กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ในฐานะกลุ่มระดมความคิดและความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการบริหารจัดการของรัฐบาลมีความน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงได้รวบรวมข้อเสนอแนวคิดการบริหารจัดการจากผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน รวมถึงข้อคิดและข้อเสนอของ Tony Woodsome จากการร่วมสนทนาใน CARE Clubhouse เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพื่อร่วมหาทางออกให้แก่พี่น้องประชาชนต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

ประเด็นด้านการบริหารจัดการ 8 ข้อ

1. ยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดการสถานการณ์หลัก และทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2. ลดขั้นตอนแบบระบบราชการ สร้างความรวดเร็วและทันท่วงทีในการแก้ไขปัญหาเชิงรุก

3. สื่อสารความจริงกับประชาชนอย่างเป็นเอกภาพ รอบด้าน และ ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์การจัดการสถานการณ์วิกฤต เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและลดความตื่นตระหนกของประชาชน

4. บริหารจัดการอย่างสมดุลทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ในมาตรฐานที่ดีทัดเทียมกับอารยประเทศ

5. ปูพรมตรวจคัดกรองเชิงรุก แยกกักตัวผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน ติดตามผู้สัมผัส ขยายพื้นที่การรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนัก รีบจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและ ยารักษาโรคที่ได้ผล

6. ยกเลิกการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและภูมิภาคร่วมบริหารจัดการและรับมือการแพร่ระบาด

7. ออกมาตรการบำรุงขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

8. ปรับค่ายทหารโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ

ประเด็นด้านการจัดการวัคซีนและยารักษา 8 ข้อ

1. วางยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน

2. เร่งรัดจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชนอย่างเพียงพอและทั่วถึง

3. เปิดสัญญาและชี้แจงข้อตกลงในสัญญาการจัดซื้อจัดหาวัคซีนทุกชนิดเพื่อความโปร่งใส

4. ควบคุมราคาวัคซีนทางเลือกในราคาต่ำที่สุดเพื่อลดภาระประชาชน

5. นำวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐอเมริกาหรือวัคซีน mRNA อื่นที่รัฐจัดหามาได้เบื้องต้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน

6. นำเสนอผลการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนข้ามประเภทที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ และมีผลการทดสอบอย่างรอบคอบก่อนนำมาฉีดให้กับประชาชน

7. เปิดเจรจาระดับผู้นำประเทศเพื่อขอยืมแลกเปลี่ยนวัคซีนกับต่างประเทศที่มีวัคซีนสำรองจำนวนมากมาใช้ก่อนแล้วคืนในภายหลัง

8. ส่งเสริมการใช้สารสกัด Andrographolide จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรซึ่งมีผลการวิจัยรองรับอย่างเร่งด่วน โดยรีบจัดหาให้กับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงเพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

ประเด็นด้านการตรวจคัดกรอง 4 ข้อ

1. เปิดให้มีการนำเข้าหรือจัดหาชุดตรวจเร็ว (Rapid Antigen test) หรือชุดตรวจประเภทอื่นให้เพียงพอและกระจายอย่างทั่วถึง

2. ควบคุมราคาหรือลดอัตราภาษีนำเข้าชุดตรวจเร็ว ให้มีราคาต่ำที่สุดเพื่อลดภาระประชาชน

3. เพิ่มและกระจายจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้เพียงพอ เพื่อลดความแออัดของประชาชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่สีแดงเข้ม

4. เปิดรับอาสาสมัครประจำจุดตรวจในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอต่อการขยายหรือเพิ่มจุดตรวจคัดกรอง

ประเด็นด้านเศรษฐกิจ 4 ข้อ

1. ออกมาตรการเยียวยาทันทีที่มีประกาศคำสั่งซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชน

2. ออกมาตรการเยียวยาที่ทั่วถึง เพียงพอ และ เป็นธรรมต่อประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจไม่ว่าจะปิดหรือเปิดทำการ

3. ก่อนเปิดการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ควรได้รับวัคซีนที่ได้มาตรฐานและทั่วถึงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

4. จัดสรรเงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อหยุดการระบาดของโรคให้เร็วที่สุด และฟื้นฟูธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เช่น ร้านอาหาร สปา โรงแรม ฯลฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ