สภาพคองเกรสสหรัฐวางแผนกดดันให้บริษัทเชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ถอนธุรกิจออกจากพม่า หลังจากนายทอม แลนโตส ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของสภาคองเกรสยื่นเสนอแผนการคว่ำบาตรดังกล่าว
นายแลนโตสกล่าวว่า เชฟรอน จะถูกบีบไม่ให้จ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหารพม่า ผ่านทางบริษัทที่ร่วมทุนกับบริษัทโทเทลของฝรั่งเศส บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ของไทย และบริษัทเมียนมา ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพรซ์ โดยบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ดำเนินการที่บ่อก๊าซยานาดา
แผนคว่ำบาตรครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่สหรัฐกำหนดขึ้นเพื่อตอบโต้รัฐบาลทหารพม่าที่ใช้ความรุนแรงสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง จนเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน และถูกจับกุมตัวอีก 3,000 คน
ภายใต้กฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐนั้น สหรัฐจะไม่มีการผ่อนปรนหรือให้สินเชื่อแก่พม่า หรือ เข้าร่วมในข้อตกลงโครงการก๊าซที่เมืองยานาดา
"เราไม่ได้บังคับให้เชฟรอนถอนธุรกิจออกจากพม่า แต่เราจะใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อบีบให้เชฟรอนทบทวนการดำเนินงานในพม่า" สภาคองเกรสกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ เชฟรอนเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของชาติตะวันตก ที่ถือหุ้น 28% ในโครงการก๊าซยานาดา หลังจากเชฟรอนได้เข้าซื้อกิจการยูโนแคล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ในปี 2548 สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์:
[email protected]