นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ยังคงทวีความรุนแรงและตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ได้กำหนดมาตรการลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางโดยให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถาน หรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น รวมถึงได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐโดยให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงาน ของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากร ในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงาน หรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล
ทั้งนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ พิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อีกทั้งตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 กำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติดังกล่าวยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) รวมทั้งมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวแล้ว เห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการรวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อาจไม่สามารถขอจากหน่วยงานของรัฐ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยหรือภาคเอกชนปิดให้บริการ และในส่วนของการเดินทางไปติดต่อขอเอกสารหลักฐานเพื่อนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ซึ่งหากจะต้องดำเนินการดังกล่าวย่อมเป็นการไม่สอดคล้องกับมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติของรัฐที่ต้องการให้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคลอันเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ยื่นบัญชีไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ภายในกำหนดระยะเวลา จึงมีมติเป็นแนวทางการพิจารณากรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผู้ใด ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน (ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ มีหน้าที่ยื่นบัญชี หรือครบกำหนดตามที่มีการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีไว้แล้ว) ในระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 แม้ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว เจ้าพนักงานของรัฐดังกล่าวยังไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็ยังไม่ถือว่ามีพฤติการณ์จงใจไม่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานของรัฐดังกล่าวสามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
อนึ่ง หากมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติดังกล่าวเพิ่มเติม คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาและแถลงให้ทราบต่อไป