นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่า ขณะนี้ทราบว่ากระทรวงสาธารสุขได้นำร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฏีกา โดยหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ก็จะส่งมายังรัฐสภาให้พิจารณาได้ทันภายในสมัยประชุมนี้
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้าในช่วงโควิดจำนวนมาก และเป็นบุคลากรด่านหน้าในการ ดูแลผู้ป่วยโควิด ต่างก็พูดตรงกันว่า สิ่งที่ทำวันนี้อาจส่งผลกระทบในวันข้างหน้า เกรงจะมีการฟ้องร้อง
"หมอก็เคยบอกว่า เขาก็มีความกลัวว่าสิ่งที่เขาทำตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ป่วย มาหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วโรงพยาบาลเตียงเต็ม ไม่มีเตียงให้ เกิดคนไข้เสียชีวิตจะโดนฟ้องหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนที่ตอนนี้ทางการแพทย์เรียกว่าวัคซีนฉุกเฉิน ที่บริษัทจดทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกว่าเป็นการอนุมัติกรณีฉุกเฉิน เพราะไม่สามารถวิจัยให้ครบ 3-5 ปีแบบวัคซีนปกติ เมื่อนำวัคซีนฉุกเฉิน มาฉีดแล้ว ต่อไปเกิดมีปัญหาตามมา เช่น เป็นภูมิแพ้ โรคเลือด มะเร็ง คนที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เขาจะโดนฟ้องร้องได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต การเยียวยาให้ก็เรื่องหนึ่ง แต่เขาใช้สิทธิฟ้องศาล เขาจะฟ้องได้ไหม เพราะตอนนี้เป็นการทำงานแบบฉุกเฉิน พวกเขาก็บอกว่ามันไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีแค่กฎหมายความรับผิดทางละเมิด คือถ้าปฏิบัติงานโดยไม่ได้ประมาท หรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง และปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข รัฐก็คุ้มครองให้อยู่แล้ว หากจะฟ้อง ก็ต้องฟ้องรัฐ
สรุปก็คือมีเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมาย เพราะหน้างานเขาก็มีความกลัว และตอนนี้เขาทำงานภายใต้สภาวะเร่งรีบเพื่อช่วยชีวิตคน แม้จะทำงานด้วยความตรากตรำ แต่หากเกิดผลเสียขึ้นมา ญาติพี่น้องคนไข้ที่เสียชีวิต เกิดไปฟ้องร้องให้ชดใช้ มันจะมีอะไรคุ้มครองเขาไหม จึงถือว่ามีเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมาย เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องตอบให้ได้ว่า กฎหมายปัจจุบันคุ้มครองให้บุคลากรทางการแพทย์เพียงพอไหม หากยังไม่เพียงพอ ก็มีเหตุผลในการออกเป็นพระราชกำหนด ตราเป็นกฎหมายใหม่ได้ และรัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่า การออกเป็นพระราชกำหนด มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ เพราะหากออกเป็น พ.ร.บ.ที่ละเอียดรอบคอบกว่า แต่อาจใช้เวลา หากเขาตอบตรงนี้ได้ก็ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้ บอกได้เลยว่าหน้างาน หมอ พยาบาล เขากลัวในสิ่งที่ทำตอนนี้มาก หากมีกฎหมายออกมาจะทำให้เขาทำงานได้สบายใจ" นพ. เจตน์กล่าว
ประธาน กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ถือว่ามีเหตุผลและความจำเป็น เพียงแต่การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ต้องตอบสังคมให้ได้ใน 2-3 คำถาม คือ ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ที่มีบทบัญญัติครอบคลุมในการให้ความคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ดังนั้น การออกเป็น พ.ร.ก.ที่จะเกิดขึ้น รัฐบาล ต้องตอบให้ได้ว่ากฎหมายความรับผิดชอบทางละเมิดฯ ที่ใช้ปัจจุบันไม่ครอบคลุมการคุ้มครองหมอและพยาบาลที่ปฏิบัติงานช่วงโควิดอย่างไร
ส่วนที่ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว จะมีเนื้อหาคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดซื้อวัคซีนนั้น ประเด็นนี้ หากรัฐสภาส่งร่างพ.ร.ก.มาที่รัฐสภา ก็มีฝ่ายค้านตรวจสอบอยู่ ประเด็นนี้คงมีการอภิปรายค่อนข้างมาก ต้องดูว่าร่าง พ.ร.ก.จะให้ครอบคลุมถึงระดับไหน เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่ออกมาตามคำสั่ง ศบค.ที่ออกมาตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรื่องวัคซีน ก็อาจจะมีคนนำเรื่องการจัดหาวัคซีนไปฟ้องศาลได้ด้วย ดังนั้นจึงได้มีการร่างพ.ร.ก.ออกมาให้คุ้มครองถึงผู้เกี่ยวข้องด้วย
"ดูแล้ว ร่างพ.ร.ก.ดังกล่าว คงมีการให้คุ้มครองทั้งข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง ฝ่ายค้านก็คงอภิปรายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ซึ่งหากนำร่างเข้าครม.อังคารนี้ คาดว่าจะส่งร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวมาให้รัฐสภาพิจารณาได้ทันก่อนปิดสมัยประชุมนี้" นพ.เจตน์กล่าว