ก้าวไกล-เสรีรวมไทย ยื่นญัตติด่วนตีความกมธ.แก้รธน. แปรญัตติเกินหลักการ

ข่าวการเมือง Friday August 13, 2021 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่. ? พ.ศ. ? (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือก) รัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองหลักการมีแค่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 2 มาตราเท่านั้นคือ มาตรา 83 และ 91 เมื่อมีความพยายามแปรญัตติเพื่อแก้ไขนอกเหนือจาก 2 มาตรานี้ จึงมีการถกเถียงกันใน กมธ. ถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 114 ที่เขียนไว้ว่า หลักการแก้ไขต้องเป็นไปโดยชัดแจ้ง ซึ่งความชัดแจ้งก็คือการผ่านวาระที่ 1 ระบุให้แก้แค่ 2 มาตรา คือ มาตรา 83 เป็นเรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก เดิม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน มีการแปรญัตติให้แก้เป็น 400 คน ต่อ 100 คน

ส่วนมาตรา 91 เป็นเรื่องการคำนวณระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้ระบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาในการไม่สะท้อนความนิยมของพรรคหรือนโยบายตามเสียงที่ประชาชนต้องการจริงๆ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาที่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอหลักการคือ จำนวน ส.ส.เหมือนเดิมเป็น 350 กับ 150 แต่การคำนวณให้ใช้แบบ MMP จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การเสนอแบบ MMP จึงเป็นการนำจุดแข็งของทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และ 60 มารวมกัน เป็นพัฒนาทางการเมืองที่เป็นธรรมโดยกำจัด ส.ส.ปัดเศษออกไปด้วยการคำนวณที่เหมาะสม แต่การพิจารณากลับเป็นไปอย่างเร่งรีบ จนไม่สามารถอภิปรายเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ได้เลยในการพิจารณาของ กมธ. เพราะถูกขัดขวางตลอด เป็นความยากมากในการทำงานในชั้น กมธ.

นายธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยังเป็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ได้เป็นการแก้ไขเรื่องการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตราเท่านั้น ซึ่งมีการโต้เถียงตลอดการพิจารณาเสมอว่ากรณีแบบนี้จะพิจารณามาตราอื่นได้หรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 หลักการในการแก้ไขต้องเป็นไปโดยชัดแจ้ง

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีบทเรียนในความพยายามสอดไส้แก้ฎหมายมาแล้วหลายครั้ง โดยการผ่านหลักการวาระที่ 1 มาให้แก้ได้ 2 มาตรา แต่ใน กมธ. กลับมีการแก้ถึง 6 มาตรา และเพิ่มมาใหม่อีก 2 มาตรา แบบนี้หลักการที่ผ่านในวาระที่ 1 เท่ากับไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การยื่นญัตติในวันนี้คือการตรวจสอบข้อกฎหมายก่อนพิจารณาร่างแก้ไข ไม่ใช่การตีรวน แต่คือการตรวจสอบการกระทำสอดไส้กฎหมายด้วยข้อบังคับ 151 ผ่านการยื่นญัตติไม่น้อยกว่ากว่า 40 คน ซึ่งญัตติที่จะยื่นวันนี้มีการลงชื่อครบถ้วนจาก ส.ส.ก้าวไกล 40 คน และจากพรรคเสรีรวมไทย 1 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ