นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ขอสงวนความเห็นปรับลดประมาณรายจ่าย 1 แสนล้านบาท คงเหลือ 3 ล้านล้านบาท และแม้กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ จะมีการปรับลดงบประมาณฯ ลงมา 1.6 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ และไม่ใช่ทางออกของประเทศ
โดยนายพิธา ได้เสนอทางออกประเทศด้วยการรื้อโครงสร้างรัฐเพื่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศใน 2 ระดับ ประกอบด้วย
1.ระดับจุลภาค ยังสามารถปรับลดงบประมาณได้อีก ซึ่งมี 3 ประเภท คือ
1.1 งบประเภทที่ไม่ตอบโจทย์กับวิกฤตของประเทศที่ประสบปัญหา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่ประเทศต้องการความมั่นคงทางสุขภาพ ประชาชนต้องการวัคซีนมากกว่าอาวุธยุปโธปกรณ์ ที่อยู่ในงบกลาโหม ซึ่งสามารถตัดงบประมาณได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่กรรมธิการวิสามัญงบประมาณฯ ปรับลดได้เพียง 3 พันล้านบาท หรือ เรื่องงบที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งเรื่องปืนตำรวจ ปืนมหาดไทย และ Big Data ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตำรวจ กลาโหม
1.2 งบที่เน้นลงทุนในสิ่งก่อสร้างมากกว่าชีวิตคน เช่น งบฯ ก่อสร้างอาคารสำนักงานจังหวัด บ้านพักข้าราชการ และขยายอาคารสำนักงานจังหวัด ซึ่งมีถึง 1.7 แสนล้านบาท แต่ปรับลดได้เพียงพันกว่าล้านบาท
1.3 งบประมาณที่มีพิรุธ ราคาสูงกว่าท้องตลาด หรือใบราคาไม่สมบูรณ์
2.ระดับมหภาค ในเรื่องการปรับโครงสร้างจัดระบบรัฐไทยใหม่ โดยแบ่ง 2 ประเภท คือ
2.1 งบประมาณที่มีความซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน เช่น กระทรวงกลาโหม ที่มีทั้งสำนักปลัดกลาโหมที่มีกรมพระธรรมนูญ และกรมการเงินกลาโหม ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทย มีสำนักงานพระธรรมนูญทหาร และกรมการเงินทหาร ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกัน แต่มีการแยกบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน หรือกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีทั้งกรมท่าอากาศยาน และบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล จะไปจัดระบบนี้ใหม่ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน
2.2 ต้องมีปรับงบประมาณเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ใหม่หลังยุคโควิด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการค้า การลงทุน การพาณิชย์ และเรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่มี 3 กระทรวงรับผิดชอบสินค้าเกษตรในแต่ชนิด คือ กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบเรื่องราคาข้าว ปาล์มน้ำมัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบเรื่องราคายาง และกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบเรื่องราคาอ้อย แต่เห็นว่าควรจะบูรณาการให้อยู่ที่เดียวกัน เพื่อให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระการรีดภาษีจากประชาชน