นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงภายหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า การจัดทำงบประมาณที่กรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการประมาณการเศรษฐกิจเมื่อต้นปี 64 ซึ่งยอมรับว่า สถานการณ์ในปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
"อย่างไรก็ตาม มีการคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 64 และปี 65 ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจปี 65 ของเราน่าจะเติบโตขึ้นเป็นการฟื้นตัว เพียงแต่ว่า ฟื้นช้า ฟื้นเร็ว แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ ซึ่งการประเมินการจัดเก็บรายได้ ประเมินทั้งเชิงวิชาการและประเมินจากขีดความสามารถ จากหน่วยงานจัดเก็บทั้งหลาย"นายอาคม กล่าว
สำหรับในประเด็นเงินกู้และหนี้สาธารณะ ได้มีข้อเสนอจาก คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ต้องมีการบริหารจัดการเงินกู้และหนี้สาธารณะให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19
นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังคงจะต้องมีการปรับแผนในการก่อหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาบางโครงการมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติ จึงให้นโยบายให้มีการทบทวนโครงการลงทุนต่างๆ ที่จะมาขอใช้เงินกู้ ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และโครงการที่บรรจุไว้แล้วแต่ยังมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายก็จะมีพิจารณาให้กู้เท่าที่จำเป็น และการกู้เงินคงเป็นลักษณะการทยอยกู้ และต้องดูภาวะตลาดพันธบัตรและเรื่องสภาพคล่องภายในประเทศ เพื่อไม่ให้การกู้เงินของรัฐบาลไปแย่งเงินจากภาคเอกชน ส่วนแหล่งเงินกู้ที่ผ่านมา 98% กู้จากในประเทศ ถ้าต้องการให้เอกชนลงทุนมากขึ้น ต้องพิจารณาใช้เงินกู้ในต่างประเทศด้วย และขณะนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายค่อนข้างต่ำ จึงมีขีดความสามารถในการกู้ได้
สำหรับเรื่องรายจ่ายในงบประมาณในปีที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งนโยบายในปี 65 จะเข้มงวดกับการปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือไม่ใช่โครงการเร่งด่วนก็ให้ชะลอไปก่อน แต่ส่วนสำคัญ คือ ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางสังคมและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ ค่าใช้จ่ายตามแผนบริหารหนี้ภาครัฐ
นายอาคม ยืนยันว่า กรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และพ.ร.บ.วิธีการงบการงบประมาณ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถขยายตัวต่อไปได้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ เน้นในเรื่องการแก้ปัญหาและพัฒนาในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งเรื่องการเดินทางต่างๆ การส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้