ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ เริ่มเมื่อเวลา 09.50 น. โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) โดยก่อนเข้าสู่วาระนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำถึงรายละเอียดที่ได้ฯถอน 4 มาตราออกไป
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างที่สมบูรณ์จาก กมธ. และไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะถูกต้องหรือไม่
"เรื่องนี้อาจจะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคนยื่นแน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ ท่านจะโดนกับดักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเสนอว่าให้ดำเนินการในแต่ละมาตราตามร่างเดิมที่เสนอมา และขอตัดแทนการนำร่างที่แก้ไขใหม่มาให้ที่ประชุมพิจารณา" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวว่า เป็นห่วงต่อสิ่งที่ กมธ.แก้ไขมา ไม่อยากให้ขัดแย้ง ผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ว่าสิ่งที่ กมธ.แก้มายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อยากให้ดูให้รอบคอบ เพราะเหมือนขัดแย้งในเนื้อหาและกระบวนการ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แสดงความเห็นด้วยกับ พล.อ.เลิศรัตน์ และกล่าวว่า การที่จะดำเนินการตามข้อบังคับ ข้อที่ 37 คือเป็นการถอนญัตติหรือวาระออกไปก่อน ซึ่งต่างจากสิ่งที่กำลังดำเนินการ อีกทั้งรายละเอียดตามรายงานร่างของ กมธ.ดูไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะที่ตนเองได้เสนอคำแปรญัตติไว้ จึงขอให้ถอน เพราะไม่อยากให้ผิดพลาดจนเป็นปัญหาของสมาชิกในระยะยาว
ขณะที่นายชวน ย้ำว่า การขอมติแก้ไขต่างจากที่ กมธ.เสนอมาสามารถทำได้ และเดินหน้าลงมติว่าที่ประชุมเห็นว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้ กมธ.เสนอร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ต่อที่ประชุม ด้วยคะแนน 357 ต่อ 42 งดออกเสียง 86
เมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และมาตรา 91 วาระ 2 ฉบับใหม่ที่ กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมของที่ประชุมรัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ชี้แจงว่า หลังจาก กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว มีสมาชิกเสนอคำแปรญัตติ 48 ฉบับ เป็น ส.ส. 50 คน ส.ว. 4 คน ซึ่ง กมธ.ให้ความสำคัญกับการแปรญัตติของสมาชิก นำคำแปรญัตติมาประกอบ การพิจารณาอย่างละเอียด สมาชิกส่วนใหญ่แปรญัตติให้เสนอมาตราเพิ่มขึ้นใหม่ นอกเหนือจากมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่ได้รับความเห็นขอบในวาระรับหลักการ ซึ่งเป็นการเสนอมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับที่รับหลักการไว้ เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ปรากฏผลดังนี้ แก้ไขมาตรา 86 เรื่องแก้ไขจำนวน ส.ส.เป็น 400 เขต ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่รับหลักการ และเพิ่มบทเฉพาะกาลรองรับการดำเนินการเลือกตั้งส.ส.ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้
จากนั้นที่ประชุมเริ่มอภิปรายในวาระ 2 ในส่วนมาตรา 3 ที่ระบุ กมธ.แก้ไขยกเลิกมาตรา 83 เรื่องจำนวน ส.ส.จากเดิม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แก้ไขเป็น ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ปรากฏว่า ส.ส.ก้าวไกล และ ส.ส.พรรคเล็ก ที่สนับสนุนให้มี ส.ส.เขต 350 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ตามเดิม ได้ลุกขึ้นอภิปรายท้วงติง เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนวิชาชีพต่างๆ ที่ไม่มีความถนัดลงพื้นที่หาเสียงมีโอกาสเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้มากขึ้น ทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากความหลากหลายของผู้สนใจมาทำงานการเมือง
ขณะที่นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ระบบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน สร้างปัญหาให้ประเทศมาตลอด เป็นระบบพรรคใหญ่กินรวบ เป็นเผด็จการสภา เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง ไม่สะท้อนคะแนนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประชาชน เพราะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้บัตร 2 ใบตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ ที่ผ่านมาการเลือกตั้งมีปัญหาสร้างความแตกแยก ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญและให้ประชาชนได้ประโยชน์ต้องใช้เขตเลือกตั้งใหญ่ มี ส.ส.หลายคน ไม่ใช่เขตเดียวคนเดียวแบบที่ทำกัน ซึ่งเขตใหญ่ซื้อเสียงยาก ทำให้ได้ตัวแทนของประชาชนอย่างทั่วถึงกว้างขวาง