กลุ่มม็อบทะลุฟ้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กนัดม็อบ 25 สิงหาไล่ล่าทรราช เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ที่รัฐสภา หลังหยุดพักจัดกิจกรรมไป โดยระบุว่า เมื่อผู้แทนไม่ทำตัวเป็นผู้แทน ประชาชนต้องออกมาอภิปรายนอกสภา โดยได้เริ่มมีการจัดเตรียมสถานที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา โดยมีการตั้งโพเดียม และนำเก้าอี้มาจัดเตรียมในบริเวณดังกล่าว พร้อมติดป้ายชื่อพรรคเลียนแบบบรรยากาศภายในห้องประชุมสภา
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ทางกลุ่มทะลุฟ้า จะหนังสือถึงประธานรัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาแห่งนี้กลับมารับใช้ประชาชน
เมื่อเวลา 16.37 น. นายนวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า พร้อมแกนนำส่วนหนึ่ง ได้เข้าไปยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาผ่านตัวแทน เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภากลับมารับใช้ประชาชน โดยจัดทำรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 62 มาจากการรัฐประหารที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่ด้านนอกมีการปราศรัยของบรรดาแกนนำคนอื่นๆ โดยหนังสือที่แกนนำกลุ่มทะลุฟ้าได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาระบุว่า การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนเป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นกลไกสำคัญที่จะสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การเลือกสรรตัวแทนของประชาชนเข้ามามีบทบาทออกเสียงในการกำหนดนโยบายรวมถึงการออก, แก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดอำนาจจากเจ้าของอธิปไตยซึ่งมีจำนวนเรือนล้านมาสู่ตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการแสดงเจตจำนงของประชาชน เช่นนั้นแล้วการจัดการการเลือกตั้งนั้นจะต้องมีหลักการที่แน่นอน แม่นยำ เป็นธรรม และรับกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ภูมิภาค รวมไปถึงขั้วอำนาจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้แทนราษฎรที่ได้มาจากกระบวนการดังกล่าว สามารถทำงานบริหารราชการแผ่นดินในองค์กรบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ และดำรงไว้ ซึ่งการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เรื่องของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือระบบการจัดสันปันส่วน ถือว่ายังเป็นข้อครหาที่ทำให้พรรคการเมืองได้จำนวนสมาชิก ส.ส.อย่างที่ไม่ควรจะเป็น เช่น พรรคที่ได้คะแนนทั้งประเทศ 3-4 หมื่นเสียงก็ได้ ส.ส.จำนวน 1 คน กลายเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก ความดังของเสียงจะบางเบา เนื่องจากจำนวนสมาชิกที่น้อยนิด เมื่อมีวาระการลงมติเกิดขึ้นจึงมีโอกาสได้ว่า จะไม่มีเสถียรภาพในการทำหน้าที่ของ ส.ส.ได้ เนื่องจากอาจถูกกวาดต้อนไปอยู่ฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยอาจจะมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทน
ซึ่งภารกิจหลักของ ส.ส. คือการเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน โดยยืดหลักการประชาธิปไตย และดูแลทุกข์สุขของประชาชนผ่านการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล มิใช่การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างฐานอำนาจ หาก ส.ส.ทำหน้าที่ด้วยการรับข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งจะเป็นปัญหาของผู้ทำหน้าที่ควบคุมการตรวจสอบนโยบายต่างๆ ของฝ่ายบริหารได้
สิ่งสำคัญสำหรับการบริหารปกครองประเทศนั้น คือเสถียรภาพของรัฐบาลในการเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารในการรักษาเอกภาพของรัฐบาล เพื่อคิดค้นและออกแบบนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทั้งพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก กลายพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นปัญหาทั้งด้านความมั่นคงทางการเมือง ความไม่สง่างามของในรัฐสภา ส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย
"การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองในการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตน หรือแม้กระทั่งการแสดงข้อเรียกร้องถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิทัศน์การเมืองและสังคมไทย" หนังสือฯ ระบุ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว นอกจากจะมีกระบวนการผลักประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางเมืองแล้ว ยังมีวาระแฝงอันเกี่ยวข้องกับกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเหล่าพลพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของ ส.ว.ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่กลับเข้ามามีบทบาทและมีอำนาจมากกว่า ส.ส.อันถือเป็นตัวแทนของประชาชนในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามหลักของการใช้สิทธิทางการเมืองโดยอ้อม (Indirect Democracy)
"ตราบใดที่ ส.ว.ยังสามารถดำรงอยู่ในรัฐสภา ก็ไม่ต่างจากการเอาผู้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มกบฎปล้นประชาธิปไตยเข้ามากดขี่ตัวแทนของประชาชนในการพิจารณากฎหมาย และถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะไม่มีวันที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายแห่งประชาธิปไตยได้จริง" หนังสือฯ ระบุ
ภาครัฐจะสามารถใช้อำนาจทางการด้านกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายมารองรับการใช้อำนาจ ซึ่งการที่จะใช้อำนาจนั้นจะต้องไม่ละเมิดตัวบทกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือกำหนดโครงสร้างของรัฐแล้ว ยังเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสิทธิเสรีภาพอาจถูกรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่มีลำดับขั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถใช้กระบวนในสิทธินั้นได้ในทางปฏิบัติ เมื่อสิทธิของประชาชนได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้กระบวนการทางกฎหมายของรัฐนั้น คุ้มครองประชาชนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลักการทั่วไปของสิทธิและเสรีภาพ คือ การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องอยู่ในขอบเขตที่วางเอาไว้และต้องไม่ให้กระทบต่อบุคคลอื่น อาจกล่าวได้ว่าข้อยกเว้นนั้นก็นับว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญ
แต่สิ่งที่เกิดในรัฐธรรมนูญไทย ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ แต่ห้ามกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งกฎหมายบางมาตราในรัฐธรรมนูญไทยนั้น เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มกบฎปล้นประชาธิปไตย มีกระบวนการต่างๆ สำหรับการสร้างฐานอำนาจเพื่อคงไว้ซึ่งตำแหน่ง ซึ่งขัดต่อหลักการในการถ่วงดุลอำนาจ กล่าวคือ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการใช้กฎหมายมากเกินควร ฝ่ายต่างๆ จะต้องมีการลดอำนาจของอีกฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ แต่การที่ภาครัฐแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนตัวบทกฎหมายมาใช้ในการรักษาอำนาจของตน หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างเครื่องมือในการนิรโทษกรรมความผิด ลบล้างสิ่งที่ตนได้เคยกระทำไว้ และสร้างความชอบธรรมในการรักษาอำนาจของตนเอง เพื่อคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้
"การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ครั้งนี้ ไม่สามารถนำปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกได้มีการเสนอล้างมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่น การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการลดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การยุติแผนปฏิรูปประเทศ และการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่างก็ถูกสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งปัดตกหมดในวาระแรก" หนังสือฯ ระบุ
การกระทำเยี่ยงนี้ มิใช่การกระทำของผู้แทนราษฎรสำหรับการทำหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชน แต่นี่เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการกระทำเยี่ยงทรราชภายใต้คราบของนักการเมือง มิใช่การกระทำของผู้แทนราษฎรที่ประชาชนไว้วางใจในการเลือกเข้ามารับตำแหน่งในสภา เพื่อที่จะได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับมาเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะได้ไต่เต้าขึ้นไปอยู่บนจุดที่เหนือปัญหาทั้งปวง อีกทั้งยังทำลายความเชื่อใจที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ
กระบวนการทางรัฐสภาในขณะนี้ มิได้เป็นไปอย่างยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน ลอยตัวอยู่เหนือข้อเรียกร้องของประชาชน และทรยศต่อศักดิ์ศรีของประชาชน ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรคนใดรับเอาข้อเรียกร้องของประชาชนไปพิจารณา เป็นการปิดกั้นประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง และปิดตายทางออกของความขัดแย้งภายในสังคม เพราะการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางรัฐสภาก็มิอาจกระทำได้ตามปกติ การถ่วงดุลตรวจสอบภาคประชาชนก็ถูกปิดกั้น จึงถือเป็นการลอยตัวเหนือข้อเรียกร้องแห่งยุคสมัย และกระทบกระเทือนถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพตาม
กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant of Civil and Political Right: ICCPR) หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รับรองและยืนยันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมือง และสิทธิดังกล่าวนั้นรัฐไม่สามารถเพิกเฉยจนส่งผลกระทบกระเทือนการมีอยู่ของสิทธิพลเมืองได้
"การที่รัฐสภามีความเห็นลงมติไม่รับพิจารณารัฐธรรมนูญภาคประชาชนที่มีตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้จัดทำขึ้นนั้น เท่ากับว่ารัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา ได้ปฏิเสธหลักการพื้นฐานของประชาชนว่าด้วยสิทธิพลเมืองไปแล้ว การกระทำเช่นนี้ย่อมชื่อได้ว่าเป็นการทรยศต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจทั้งสิ้น" หนังสือฯ ระบุ
ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาจากภัยพิบัติโรคระบาดโควิด-19 นั้น ประชาชนยังต้องประสบปัญหาการกดขี่โดยรัฐเผด็จการ ทั้งการผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นเช่น ทรัพยากรธรรมชาติ, งบประมาณในการพัฒนาประเทศในระดับท้องที่, การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดี รวมถึงการผูกขาดการเข้าถึงวัคซีนที่ดีแล้ว ประชาชนยังต้องประสบกับรัฐสภาที่ทำลายเสียงเรียกร้องของประชาชนอีกด้วย นับว่าเป็นสภาวะของรัฐล้มเหลวที่แท้จริง ทั้งหมดหวังและน่าคับแค้นไปพร้อมกัน ปัญหานานับประการที่ประชาชนกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้ เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่คุณค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่สามารถยืนยันสิทธิเสรีภาพใดๆ ให้แก่ประชาชนได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าประชาชนผู้ยากไร้ ก็ถือเป็นผู้ถูกกดขี่ทั้งจากโครงสร้างอำนาจของรัฐ, โครงสร้างของระบอบเศรษฐกิจ
"ปัญหาทั้งหมดนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ยอมรับหลักการประชาธิปไตย ยืนยันสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย วิถีทางเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อเป็นการจัดระเบียบอำนาจทางการเมืองในรัฐเสียใหม่ ยืนยันหลักการที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเมื่อใดที่ประชาชนทุกข์ร้อนก็จำเป็นต้องมีกระบวนการทางการเมืองเป็นที่พึ่งที่สามารถไว้วางใจได้ และคาดหมายในผลของการดำเนินการต่างๆ ได้ และสามารถมั่นใจได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้รับใช้ชีวิตความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีของประชาชนเอง" หนังสือฯ ระบุ
ขณะที่กลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ซ โพสต์เฟซบุ๊กนัดระดมพลเยาวรุ่นทะลุแก๊ซ หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลา 15.55 น. เพื่อประณามการกระทำที่เกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม แต่เมื่อเวลา 17.00 น.กลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ซ ได้แจ้งเปลี่ยนจุดหมายการชุมนุมไปที่สามเหลี่ยมดินแดง เพื่อเดินทางไปบ้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้ลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข โดยบรรยากาศทั่วไป มีเสียงประทัดดังขึ้น 2 นัด และเมื่อเวลา 17.20 น. มีเสียงประทัดมาอีกหนึ่งนัด แต่การจราจรยังเป็นไปตามปกติ และไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) อยู่ในบริเวณพื้นที่แต่อย่างใด
เมื่อเวลา 17.30 น. ทางกลุ่มผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณวิภาวดีขาเข้า โดยไม่ให้รถผ่านไปได้และบังคับให้กลับรถเท่านั้น และนำปลอกหุ้มสายไฟขนาดใหญ่ กั้นถนนตรงทางวิภาวดีขาออก ทั้งนี้มีรายงานว่ามีเด็กชายอายุประมาณ 10 ปีได้เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงด้วย
ล่าสุด เมื่อเวลา 18.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำแบริเออร์พลาสติก และกรวยจราจรไปขวางที่กลางถนนวิภาวดีขาออก บริเวณทางลงทางด่วนดินแดง พร้อมกับจุดไฟเผา เป็นเหตุให้มีทั้งไฟลุกไหม้และกลุ่มควันจากเชื้อเพลิงดังกล่าว ในขณะที่ตำรวจไม่ได้มีการปิดจราจรที่ทางลงด่วนดินแดงแต่อย่างใด ทำให้รถที่กำลังลงทางด่วนดินแดง ถ.วิภาวดีรังสิตขาออก ต้องขับรถชิดเลนขวา เพื่อเลี่ยงจุดที่เกิดไฟลุกไหม้อยู่ในขณะนี้