นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย เขต 1 พรรคเพื่อไทย อภิปรายการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดได้ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วย ล้มตาย รวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ห้างร้านต่างๆ เครื่องยนต์สุดท้ายที่เหลือของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ต่างหยุดชะงัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะติดลบ 1.5% การว่างงานไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมากในรอบ 5 ปี
ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจการแก้ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้เกิดการย้ายฐาน ภาคธุรกิจและประชาชนต้องให้ความช่วยเหลือกันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาเตียงผู้ป่วยโควิด จัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด การจัดหาวัคซีน ซึ่งทำให้คิดว่าจะมีรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการไปเพื่ออะไร
นายกฤษฏา กล่าวว่า หลายครั้งจะเห็นได้ว่าการบริหารงานหรือการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต้องถูกขับเคลื่อนด้วยการด่าหรือตำหนิติเตียน เนื่องจากเป็นการทำงานที่ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์ ไม่กล้าตัดสินใจ การล็อกดาวน์ที่ทำอย่างไม่จริงจังและมีการคลายล็อก เพื่อหวังลดความตึงเครียดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับรัฐบาลเอาชีวิตประชาชนมาเป็นโล่กำบังทางการเมือง พร้อมตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
"ไม่ใช่ความผิดของผู้ปฏิบัติงาน แต่หากผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้ ประเทศจะไม่ต้องสูญเสียมากแบบนี้ หลายครั้ง ต้องโดนด่าซ้ำๆ ถึงออกมาทำ เพราะช้า ไม่ทันการ ตอนที่มีคนติดเชื้อน้อย ทำไมไม่สั่งวัคซีนเข้ามา พอตอนจะเริ่มระบาดเยอะ ทำไมไม่มีมาตราการเด็ดขาด แต่กลับปล่อยแรงงานไปตามมีตามเกิด ปล่อยคนติดเชื้อไปกระจายเชื้อ ไม่รู้จริงๆ หรือว่าต้องทำอะไร หรือรู้ แต่ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่รู้ว่าเห็นประชาชนเป็นอะไร คุณค่าของความเป็นมุนษอยู่ตรงไหน อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน หรือเพื่อใครกันแน่ การล็อกดาวน์ก็ไม่จริงจัง หวังคลายล็อกแค่ลดความตึงเครียดการอภิปรายหรือไม่ ถ้าหากจริง ก็เท่ากับเอาชีวติประชาชนมาเป็นโล่กำบังการเมือง" นายกฤษฎากล่าว
พร้อมระบุว่า จากคำสั่งล็อกดาวน์ที่มีผลกระทบต่อภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอยู่ในทุกที่ของประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวจากที่มีแรงงานติดเชื้อ แต่ยังมีภาระต้องจ่ายหนี้สิน ดอกเบี้ย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงค่าจ้างแรงงาน การดูแลแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ได้รับความช่วยเหลือน้อยมากจากภาครัฐ ซึ่งทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะปกติ รัฐบาลกลับบริหารงานแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เหตุใดรัฐบาลถึงกลับคืนอำนาจไปให้ท้องถิ่นต่างบริหารจัดการกันเอง
นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี จบอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีนักศึกษาจบปริญญาตรีที่อาจจะต้องว่างงานถึง 3 แสนคน ยังไม่เห็นว่าจะมีมาตรการใดมาแก้ไขหรือรองรับในส่วนนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงอย่าสงสัยว่าเหตุใดคนรุ่นใหม่ถึงมีแง่ลบต่อรัฐบาล นั่นอาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นการบริหารงาน การบริหารประเทศตลอดในช่วงที่ผ่านมา
นายกฤษฏา ยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่าผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะลามไปสู่ภาคการเงิน ภาคการธนาคารหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะเกิดหายนะต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งเห็นว่าการที่จะให้สถาบันการเงินลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของประชาชน มีความจำเป็นต้องดำเนินการภายในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้หรือไม่
"การขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจน่าห่วง แต่ที่น่าห่วงกว่า คือ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่คิดว่ารู้และเข้าใจดี ซึ่งจะพาประเทศไปสู่หายนะได้...การระบาดที่รุนแรง ได้ทำให้สูญเสียธุรกิจ สูญเสียชีวิต จะใช้อะไรมาทดแทนก็คงไม่ได้ จากนี้ทุกครอบครัวจะไม่เหมือนเดิม อยากให้ยอมรับว่าบริหารงานล้มเหลว เชื่อว่าทุกคนก็คงจะเห็นไม่ต่างไปจากนี้ เราจึงหมดความเชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจในการบริหารงานของรัฐบาล" นายกฤษฏาระบุ