นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งวาระที่ 3 ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ว่า หลังลงคะแนนในวาระ 2 ที่ผ่านมาทางส.ว.ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันตลอด และเชื่อว่าในวันที่ 9 ก.ย.จะมีความชัดเจน แต่เท่าที่ติดตามมาโดยตลอด พบว่ามีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจจะไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็ได้ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง และนักการเมืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเดินหน้า แต่เป็นการแก้ถอยหลัง ดังนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะแต่ละวันเป็นมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด
"วันนี้ วันพรุ่งนี้ แม้แต่วันที่ 9 ก.ย. หรือวันที่ 10 ก.ย. ก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ยืนยันว่า ผมเห็นสัญญาณที่ไม่ปกติเริ่มปรากฎในบรรดากลุ่มส.ว.ด้วยกัน...จะให้ตอบสังคมว่าผ่านหรือไม่ ผมไม่กล้ายืนยันเหมือนกับวาระ 2 เพราะในวาระ 2 ก็เริ่มมีปัญหาอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจึงบอกว่าให้ผ่านๆ ไปก่อน แต่วาระ 3 จะผ่านหรือไม่ เชื่อว่าส.ว.จะตัดสินใจยืนข้างความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง" นายวันชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ส.ว.จะสามารถตอบคำสังคมได้ ในกรณีที่ ส.ว.ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 แต่ไม่ให้ผ่านในวาระ 3 ส่วนจะให้เหตุผลอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เชื่อว่ามีหลักการและเหตุผลยืนยันมาตลอด เพราะพูดกันแล้วว่าการแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่ออำนาจ และความได้เปรียบทางการเมืองล้วนๆ
ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าตอนแรกพรรคการเมืองมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งได้เป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ นายวันชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเดือนเม.ย. กับตอนนี้ต่างกันมาก ดังนั้นเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในความรู้สึกของตนแม้จะผ่านไปได้ แต่มีความรู้สึกว่าจะไม่ได้ใช้
"ยังมีขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรอ 5 วัน และต้องยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในแล้วเสร็จภายใน 30 วัน อีกทั้งยังมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯอีก เชื่อว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 30-60 วันก็เป็นไปได้ และการเมืองตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงแรงพอสมควร ซึ่งในส่วนตัวที่มองว่าแม้จะรอดในวาระ 3 แต่คิดว่าไม่ทันใช้ อาจจะไปติดที่อื่นหรือที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ที่จะต้องวินิจฉัยว่าการแก้ไขชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะมีกระบวนการที่ฝ่ายหนึ่งตั้งป้อมจะร้องอยู่แล้ว และมีประเด็นที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน" นายวันชัยกล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีปัญหากันช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จะส่งผลต่อการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เกิดแรงกระเพื่อมไปทุกฝ่าย และเชื่อเหลือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน รวมถึงส.ว.อยู่ระหว่างก่ำกึ่งด้วยกัน แม้จะบอกว่าไม่ได้ว่ามีผลโดยตรง แต่ก็เกิดแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการโหวตได้
พร้อมมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ร่วมด้วยตั้งแต่ต้น ดังนั้นจากหลายสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดการสะดุดและหยุดชะงัก