รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในวาระแรก ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 368 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 โดยรับหลักการทั้ง 4 ฉบับที่มีการเสนอ คือ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
โดยที่ประชุมสภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นพ.ทศพร เสรีรักษ์, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด, นายเอกชัย ไชยนุวัติ พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ นายสมชาย หอมละออ และพรรคเสรีรวมไทยเสนอชื่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน โดยยึดร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา
สำหรับหลักการและเหตุผลของกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้ง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ กำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหาย
โดยใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในมาตรา 5 ระบุไว้ชัดว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีการรับสารภาพ หรือให้ได้ข้อมูล หรือเพื่อข่มขู่ รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน มีโทษสูงสุดจำคุก 25 ปี ปรับ 5 แสนบาท หากถึงขั้นเสียชีวิตอย่างกรณีของมาวินจะมีโทษสูงสุดจำคุก 30ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1 ล้านบาท
เช่นเดียวกับกรณีบังคับสูญหายในมาตรา 6 ระบุว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจับ,ขัง, ลักพาตัว โดยปกปิดชะตากรรม ปกปิดสถานที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษหนักเท่ากัน คือ จำคุก 25 ปี ปรับ 5 แสนบาท หากถึงขั้นเสียชีวิตมีโทษสูงสุดจำคุก 30ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1 ล้านบาท
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเอาผิดครอบคลุมไปถึงผู้สมคบคิดอยู่ในเหตุการณ์ ผู้สนับสนุน ต้องรับโทษเท่ากับคนก่อเหตุด้วย และหากผู้บังคับบัญชารู้เห็นและไม่ระงับการกระทำต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของผู้ทำผิด นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และที่สำคัญ คือการกำหนดให้คดีทรมานบังคับสูญหายนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ หมายความว่า ให้เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ทำคดี
อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานไว้ตั้งแต่ปี 2555