นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่?) พ.ศ?. (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จแล้วและรอให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นำไปหารือร่วมกับวิป 3 ฝ่ายก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ
"ในชั้นนี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการภายในอย่างครบถ้วน ต้องรอการหารือของวิปทั้ง 3 ฝ่ายก่อน" นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมี 4 เรื่อง คือ
1.จำนวน ส.ส.เขต 350 คน ให้เป็น 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน เป็น 100 คน
2.การแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบหนึ่งคือการเลือก ส.ส.เขต ส่วนอีกใบเป็นการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.แก้ไขวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากเป็นบัตร 2 ใบ คะแนนบัญชีรายชื่อต้องเป็นสัดส่วนโดยตรงกับคะแนนรวมของทั้งประเทศ ดังนั้นจึงไปทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้
4.ในการเลือกตั้ง ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะแก้ไขให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งหมด โดยใช้เบอร์ของบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์พรรค ซึ่งจะเหมือนกับปี 2554 ที่ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขนั้นได้เตรียมไว้หมดแล้ว พร้อมที่จะยื่นให้กับประธานรัฐสภาใน 2-3 วัน เมื่อโปรดเกล้าฯ
ในส่วนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยจะแก้ไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา 91 วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ใช้ถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แก้ไขโดยใช้ถ้อยคำ คือใช้คะแนนรวมให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนของทั้งประเทศ ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญปี 2554 ซึ่งในกฎหมายลูกก็เขียนตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับคะแนน ก็นับที่คะแนนรวมทั้งประเทศ เมื่อเสร็จแล้วนำมาหารด้วยจำนวน ส.ส. และในปี 2564 การแก้ไขมาตรา 83 จะเหลือ ส.ส. 100 คน แล้วนำมาหารจากคะแนนรวมทั้งประเทศก็จะได้คะแนนที่ ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน
"สมมุติว่าถ้าประชาชนออกเสียง 32 ล้านเสียง เราก็เอา 100 มาหาร ก็จะได้ 320,000 คน จากนั้นนำคะแนนดังกล่าวไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้มา ซึ่งถ้าหารออกมาแล้วก็ดูให้ได้จำนวนเต็ม คือ 1% ขึ้นไป ดังนั้นพรรคไหนที่ได้ 320,000 คะแนนขึ้นไปก็จะได้ ส.ส.ตามจำนวนเต็มก่อน ส่วนจำนวนเศษนั้นเราจะยังไม่พูดถึงกันในตอนนี้ และเมื่อแบ่งจากช่วงแรกนี้ไปแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับการจัดสรร ส.ส.พึงมีก็จะเหลือในส่วนที่ไม่ครบ 100 เช่น ถ้าแบ่งไปแล้ว 97 คน เหลือ ส.ส. 3 คน ก็จะมาดูว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเต็ม หรือได้ 1% ขึ้นไป มีพรรคการเมืองใดได้เศษมากที่สุด ซึ่งพรรคการเมืองนั้นจะได้ ส.ส.เพิ่มอีกคน นี่เป็นแนวของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 ซึ่งในร่างของพรรค พปชร.ได้ร่างออกมาแนวนี้ จะไม่มี ส.ส.ที่พรรคการเมืองไหนได้คะแนนไม่ถึง 320,000 เสียง ดังนั้นจะไม่มี ส.ส.ปัดเศษ เพราะต้องได้คะแนนเต็มก่อน แล้วเศษที่เหลือถึงค่อยมาแบ่งกัน" นายไพบูลย์ กล่าว