หมอเลี้ยบ รีเทิร์นนั่ง ผอ.พรรคเพื่อไทย สานฝันพัฒนาหลักประกันสุขภาพด้วยเทคโนโลยี

ข่าวการเมือง Thursday October 28, 2021 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ ในฐานะผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยคนใหม่ กล่าวในหัวข้อ "พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน" ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ที่จ.ขอนแก่น ถึงความฝันตลอดระยะเวลา 20 ปีบนเส้นทางการเมืองว่า ความฝันตลอด 20 ปีคือการได้ทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ได้เริ่มต้นเดินหน้าสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่เมื่อ 20 ปีผ่านไป เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพได้เปลี่ยนแปลง เราสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชนได้ดีขึ้นอีกและจากบทเรียนโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร จึงมีความฝันที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นไปอีกระดับ

แต่น่าเสียดายที่ความฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้วต้องสะดุดหยุดลง เพราะรัฐประหารปี 2549 และ 7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็จมดิ่งสู่หลุมดำแห่งทุกข์ซ้ำเติมชีวิตคนไทย แต่ด้วยเพราะพรรคเพื่อไทยสืบทอดเจตนารมณ์ของพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงปรับเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยความเชื่อว่า ถ้าพรรคไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ก็ย่อมไม่สามารถไปซ่อมหรือสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไทย จึงรวมพลังปัญญาของทุกคนที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาชน ปรับเปลี่ยนเพื่อไทยให้กลับมาสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังมีวิกฤติรออยู่ข้างหน้า ประเทศจะก้าวข้ามวิกฤตได้ ประชาชนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและปัญญาตลอดชีวิต ต้องกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ กล้าทำไม่กลัวล้มเหลว เพราะมีหลักประกันรายได้พื้นฐาน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ล้มป่วยไม่ตายเพราะโรคที่ป้องกันและควบคุมได้

โดยจะต้องเริ่มต้นที่การกระจายอำนาจและการกระจายทรัพยากรทางสาธารณสุข ที่ยังไปไม่ได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น โดยนำ "การแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน" มาใช้ในการให้คำปรึกษาเพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยโรคพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยไม่ต้องเดินทางไกลมาโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลจังหวัด ใช้ระบบข้อมูลอัจฉริยะเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้โดยไม่ต้องเรียกหากระดาษ ส่วนในระดับประเทศต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อสร้างเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขครบวงจร เริ่มจากโรงพยาบาลตำบลใกล้บ้านต่อเชื่อมกับโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพเท่าโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ภายในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาในกรุงเทพมหานครอีก

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหาแตกต่างออกไป เมื่อเกิดการระบาดของโควิดกลับพบว่าผู้ป่วยโควิดเข้าไม่ถึงการบริการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพราะไม่มีระบบการรักษาพยาบาลแบบปฐมภูมิที่สมบูรณ์ ถ้าเปรียบเทียบกับต่างจังหวัด 50 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ 50 อำเภอ และทุกเขตต้องมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงเช่นเดียวกับในต่างจังหวัด ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลในรูปแบบองค์การมหาชน สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโควิด นอกจากการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องเร่งพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคเช่น DNA Nudge และระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์ต่อยอดจากฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของนักระบาดวิทยา และ อสม.

"ความฝันทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันความฝันของเราที่เคยร่วมฝันกันไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกครั้ง ถามตัวเองว่า ยังมีความฝันอะไรที่เรายังไม่ได้ทำและมาเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงเพื่อประชาชน" ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ