นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า การถ่ายทอดภาพและเสียงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากประเทศอังกฤษมายังเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคพลังประชาชนที่ท้องสนามหลวงเย็นนี้จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในเนื้อหาสาระที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพูดก่อนว่าเข้าข่ายการปราศรัยหาเสียงหรือไม่ แต่กกต.คงสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการไม่ได้ เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
"การที่ใครจะพูดกับใครเป็นวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์หรือทางโทรศัพท์มันเป็นสิทธิที่อยู่ๆ เราจะไปห้ามใครไม่ให้ทำนั้น ต้องรอติดตามว่าที่มาพูดมันเข้าลักษณะหาเสียงหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้ายังไม่เข้าข่าย เราจะไปสั่งห้ามก็คงจะกระทบสิทธิของเขา" นายประพันธ์ กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนทำหนังสือขอหารือมายัง กกต.เพื่อให้พิจารณาถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคได้หรือไม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการพบว่า หากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นเพียงการให้คำแนะนำที่ไม่ได้ใช้อำนาจเสมือนเป็นกรรมการบริหารพรรคก็สามารถจะทำได้
"การเป็นที่ปรึกษา ถ้าไม่ได้ใช้อำนาจของกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่ได้ห้ามอะไร เวลานี้พรรคการเมืองก็คงตีความในข้อกฎหมายได้อยู่แล้ว ถ้าอะไรสุ่มเสี่ยงก็ต้องคิดให้เยอะ เพราะมันก้ำกึ่ง" นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ชุดที่มีนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย. เพื่อพิจารณากรณีว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองจะสามารถหาเสียงให้กับพรรคการเมือง หรือถ่ายรูปคู่กับผู้สมัคร ส.ส.ในป้ายโฆษณาหรือเอกสารหาเสียงได้หรือไม่
หลังจากที่ในสัปดาห์นี้ได้ให้ความเห็นแล้วว่าผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งในพรรค แต่หากดำเนินการที่มีลักษณะคล้ายกับกรรมการบริหารพรรค จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายใน มาตรา 97 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550
อย่างไรก็ดี ความเห็นจากคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เนื่องจากจะต้องรอผลการประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ กกต. ซึ่งคาดว่าในปลายสัปดาห์จะมีข้อสรุปในทุกประเด็นว่าผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสามารถดำเนินการได้หรือไม่ได้ในกรณีใดบ้าง
"เราก็ไม่อยากให้มันเนิ่นนาน เราจะพยายามยุติโดยเร็วให้ทุกฝ่ายได้ทราบ ทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคัมภีร์ของ กกต.แต่เป็นความเห็นทางข้อกฎหมายว่าเราเห็นว่าอย่างนี้ทำได้หรือไม่ได้ ถ้าเขา(พรรคการเมือง)ไม่เชื่อ และอยากจะทำก็ทำไป เพียงแต่มันจะมีผลกระทบกับตัวเขาเองเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา" นายประพันธ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--