นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวก่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่นำเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-solution ว่า วุฒิสภาควรรอฟังเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ก่อน ไม่ควรตั้งธงว่าจะลงคะแนนเสียงไม่รับหลักการร่างฯ ตั้งแต่ต้น
"ถือเป็นความผิดประหลาดของระบบรัฐธรรมนูญไทย หมายความว่าวุฒิสภาไม่กี่ร้อยคน สามารถสกัดขัดขวางได้เสมอ หรือไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมต้องโหวตไม่รับหลักการ อยากขอให้รอฟังเหตุผลก่อน เชื่อว่ายังมีวุฒิสภาที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ"นายปิยบุตร กล่าว
พร้อมชี้แจงอีกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เข้าไปแตะต้องเรื่องระบบเลือกตั้ง เพราะมองว่าเรื่องนี้มีส่วนได้เสียกันของพรรคการเมืองต่าง ๆ และสุดท้ายหากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ควรเปิดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมาออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันรัฐสภาก็ได้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า ประชาชนตื่นตัวต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 62 ดังนั้นการเข้าชื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครั้งนี้เสมือนวัคซีนเข็มแรก เป็นการรื้อกลไกที่ต้องตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นกลาง สะท้อนให้เห็นว่า 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน สามารถพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เอาอำนาจไว้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อหลักการ เพราะล่าสุดสภาฯ ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับ ส.ส. 400 เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ฉบับนี้กลับเขียนขัดกับหลักการเดิมที่ได้แก้ไปแล้ว โดยให้กลับมาใช้เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว กับ ส.ส. 350 เขต คำนวณแบบ ส.ส.แบบปัดเศษ ซึ่งผู้เสนอร่างประณามมาโดยตลอด
"ผมมองว่าไปไม่ได้ เป็นการเสนอร่างย้อนแย้งที่อ้างว่าจะล้างมรดก คสช. แต่กลับมาใช้ระบบเดิม เพียงแค่ประเด็นเดียวก็ไปไม่ได้ได้แล้ว ซึ่งส่วนตัวจะไม่ลุกขึ้นอภิปรายในสภา เพราะเสียเวลา"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการลดอุณหภูมิทางการเมือง แต่เกี่ยวข้องกับความถูกต้อง เราต้องนึกถึงหลักการใหญ่ด้วย ซึ่งขอถามกลับมาที่พรรคเพื่อไทยว่าต้องการบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านรัฐสภา และอยู่ระหว่างการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมนั้นตรงนี้ย้อนแย้งกับพรรคเพื่อไทยที่โหวตสนับสนุนหรือไม่