นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้แจงร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญกรณีเสนอให้ยุบวุฒิสภาว่า มีเหตุผลเชิงประจักษ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาคือ ผลงานของ ส.ว.ชุดปัจจุบันพบว่า ส.ว.มักเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และพระราชกำหนดฯ แม้สภาฯ จะไม่เห็นด้วย และมีเพียงฉบับเดียวที่ไม่เห็นด้วย คือ ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่...) พ.ศ... ตรงไหนที่ชี้ให้เห็นว่า ส.ว.ทำหน้าที่ถ่วงดุล กลั่นกรองกฎหมายไม่มีเลย
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว.เพราะให้มีสภาเดี่ยว แต่การแก้รัฐธรรมนูญต้องขอความเห็นชอบจาก ส.ว. 84 เสียง สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของการออกแบบรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น หากไม่มี ส.ว.ช่วยเหลือ ไม่มีทางผ่าน ส.ว.คือ ผู้ออกใบอนุญาตทุกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดจะแก้ได้หรือไม แต่ผมเชื่อว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นความสำคัญ ทั้งนี้มีตัวแบบอีกหลายรูปแบบ หากมีสภาเดี่ยวแล้ว อาจมีสภาที่ปรึกษา แต่ขอบอำนาจไม่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ" นายปิยบุตร กล่าว
ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตวราหะ ส.ว.ลุกประท้วงว่า ผู้ชี้แจงกล่าวเท็จต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. อย่างน้อย ส.ว.ก็มาตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ที่กำลังอภิปรายนั้นไม่สมควรที่จะมาชี้แจงหรือเสนอรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ตนเองขอเรียกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนว่าเป็นฉบับปฏิวัติ เนื่องจากเป็นการรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร, บั่นทอนความเป็นอิสระในการตัดสินคดีของศาล, ควบคุมกำลังคนและงบประมาณองค์กรอิสระ
นายปิยบุตร ชี้แจงว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนว่าเป็นฉบับปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติ เพราะไม่ได้รื้อรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ แต่แก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา
ส่วนประเด็นการบั่นทอนความเป็นอิสระในการตัดสินคดีของศาลนั้น ที่จริงแล้วจะเป็นจุดที่ศาลนำไปใช้เพื่อวินิจฉัยที่จะไม่รับรองการรัฐประหารได้
ขณะที่กระบวนการถอดถอนองค์กรอิสระนั้น ตนเองนำเนื้อหามาจากรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ถูกยกเลิกไปในรัฐธรรมนูญปี 60 และไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ เพราะไม่สามารถที่จะไปกลับคำพิพากษาได้
"ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แค่เกาะเกี่ยวให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปตรวจสอบองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบได้เท่านั้น" นายปิยบุตร กล่าว