นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชี้แจงว่า เหตุผลที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภาคประชาชนเสนอให้มีการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนื่องจากเป็นข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงได้ยากพอๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการจัดทำแผนเพิ่มเติมเท่านั้น ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ เช่น แผนปฏิรูปกองทัพเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารมาเป็นการสมัครใจ และหากใครไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ก็จะมีโทษ เช่น การถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเป็นกลไกในการจำกัดคู่แข่งทางการเมือง
นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แจงว่า การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ เพราะเป็นการรวมศูนย์ ไม่ได้กระจายอำนาจไปยังภูมิภาคอย่างแท้จริง ทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นยังไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่
น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ให้การรับรองคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกจำนวนมากที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และมีการตรากฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน 444 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น
ในระหว่างการชี้แจงของ น.ส.ชลธิชา ได้ถูกประธานรัฐสภาเตือนเรื่องการใช้คำไม่สุภาพและให้ถอนคำพูด พร้อมทั้งขอให้พูดในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการประท้วงไปมาระหว่าง ส.ว.กับ ส.ส.พรรคก้าวไกล