นายศาสตรา โตอ่อน นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการฯ กับ ส.ส.รวม 21 คน ออกจากพรรคย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานในรัฐสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎหมายสำคัญ
"การเมืองมาถึงจุดที่ไม่สามารถประสานผลประโยชน์ได้ลงตัว ก็ต้องแยกขั้วออกไปเหมือนการเมืองยุคปี 40 ที่เป็นก๊กเป็นเหล่า" นายศาสตรา กล่าว
พร้อมมองว่า ปัญหาคือระบบการเมืองยังยึดโยงอยู่กับเรื่องผลประโยชน์พวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ ทำให้มีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ในส่วนของ พปชร.เองก็เป็นการรวบรวมทหารและนักการเมืองกลุ่มต่างๆ หลังการรัฐประหาร
"กลุ่มการเมืองยังมีวิธีคิดเรื่องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ ถึงเวลาก็ย้ายไปอยู่กับหลายพรรคที่ให้ผลประโยชน์ลงตัว เพราะรู้ดีว่ามีอำนาจต่อรองได้" นายศาสตรา กล่าว
สำหรับภาพลักษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ค่อยดีนัก จึงเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านโจมตี แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ยังประสานให้อยู่ร่วมกันได้ แต่พอมาถึงจุดแตกหักที่ตกลงกันไม่ได้ก็ต้องแยกขั้วออกไป
"ประชาชนยังเลือก พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร" นายศาสตรา กล่าว
กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การยุบสภา แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในขณะนี้ที่ยังมีเรื่องโควิด-19 ที่จำเป็นต้องมีคนทำงานอยู่เพื่อส่วนรวม แต่ความขัดแย้งดังกล่าวมาจากแค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น
ฟากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายรัฐบาล ยอมรับว่า สถานะของพรรคร่วมรัฐบาลมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จำนวน ส.ส.ของ พปชร.จะลดลง แต่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลยังเป็นเสียงข้างมากในสภาอยู่ ซึ่งในอดีตพรรคกิจสังคมที่มีเพียง 18 เสียงก็เคยเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว และไม่ได้เรียกว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
"ผมเคยบอกไว้เมื่อสองปีก่อนว่ารัฐบาลเป็นเรือเหล็ก แต่เป็นเรือเหล็กที่เป็นสนิม สนิมเหล็กเกิดจากเนื้อในตน ไม่ใช่ฝ่ายค้าน" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ยังคิดไม่ออกว่าหากกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.บ.ประกอบพรรคการเมือง ยังไม่เสร็จแล้วมีการยุบสภาไปก่อน เมื่อต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันจะ ดำเนินการกันอย่างไร
ถึงแม้ว่าจะมีผู้เสนอให้ตรากฎหมายลูกเป็นพระราชกำหนด แต่เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะจะถูกมองว่ารัฐบาลเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว ทั้งที่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น การแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องช่วยกันผลักดัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหากไม่มีการแก้ไขเนื้อหามากนัก ซึ่งประเด็นที่จะแก้ไขนั้นทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ต้องเห็นด้วย
"นายกฯ ไม่ควรยุบสภาไปก่อนที่กฎหมายยังไม่เสร็จ" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนการเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในลักษณะที่นายกฯ ลาออกนั้นคิดว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และไม่เกิดประโยชน์ เพราะยังเป็นรัฐสภาเดิมที่ใช้กระบวนการสรรหานายกฯรัฐมนตรีแบบเดิม
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ระบุถึงทิศทางการเมืองไทยหลังจากนี้ เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น อย่างน้อยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐจบลงแล้ว และเห็นได้ชัดว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เพื่อเตรียมสร้างพรรคให้เข้มแข็งพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งในปีหน้า จึงเชื่อว่าความชัดเจนตรงนี้จะทำให้การเมืองเกิดความเข้มแข็งขึ้น