นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคว่า ในภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น การจะปรับขึ้นราคาสินค้าจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ก่อน ซึ่งในช่วงนี้ยืนยันว่า กรมการค้าภายใน ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตสินค้ารายการใดปรับขึ้นราคา
โดยจะเห็นได้ว่า ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิต ตลอดจนห้างร้าน เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าจำเป็นไว้ก่อน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า, น้ำอัดลม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ซอสปรุงรส, ไข่ไก่, เนื้อไก่ เป็นต้น
"ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น จะต้องมาขออนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อนที่จะปรับราคา แต่ตอนนี้ ยังไม่ได้อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาเลย...ที่ผ่านมา เราได้เชิญทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก เชิญมากหลายหมวดสินค้า ซึ่งล้วนแต่เป็นหมวดใหญ่และสำคัญ ก็ได้คุยจบกันไปหลายหมวดสินค้าแล้ว อะไรที่ขอปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผล เราจะไม่อนุญาต" รมว.พาณิชย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะพยายามดำเนินการให้มีความสมดุล และทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าเป็นฝ่ายของเกษตรกร, ผู้ผลิต และผู้บริโภค
สำหรับการดูแลราคาสินค้าน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคา โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาไว้ก่อน ในขณะที่ล่าสุดผลปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีราคาสูงขึ้นไปถึง กก.ละ 11 บาท จากเดิมที่ กก.ละ 2-3 บาท โดยราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวนั้น นายจุรินทร์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในการดูแลให้เกิดความสมดุลแก่ทุกฝ่าย เพราะการที่ราคาผลปาล์มสูงขึ้น ย่อมทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของโรงงานพุ่งสูงขึ้น และท้ายสุดประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคก็จะต้องซื้อสินค้าน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาที่แพงขึ้นจากเดิม ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาไว้ คงทำได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะหากคุมราคาขายไว้ โดยที่ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ผู้ผลิตอาจไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ และผลิตสินค้าน้อยลง ส่งผลให้สินค้าอาจขาดตลาดได้
"เมื่อกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาไว้ ก็คงทำได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะต้นทุนสูงขึ้นเกินกว่าที่ผู้ผลิตจะอยู่ได้ ถ้าไปล็อกราคาไว้ แต่ต้นทุนเขาสูง อาจทำให้สินค้าขาดตลาด เพราะผู้ผลิตก็จะไม่ผลิต เนื่องจากไม่คุ้มทุน...ยอมรับว่าการบ้านข้อนี้ยากที่สุด เพราะต้องพยายามทำให้เกิดความสมดุลให้ได้ ทั้งฝั่งของเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค" นายจุรินทร์ ระบุ