นายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย นำกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย อาทิ นายกำพล ปัญญาโกมล, นายสันติ กีระนันท์ และนายนริศ เชยกลิ่น เข้าพบกับผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เอสเอ็มอีได้รับจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายอุตตม กล่าวว่า จากการที่พรรคสร้างอนาคตไทย ระดมสมองแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาเอสเอ็มอี และนำมาร่วมหารือกับผู้ประกอบการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงได้นำเสนอแนวคิดนโยบาย "สร้างอนาคตเอสเอ็มอี ไทย" โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ ประกอบด้วย
1. มาตรการการเข้าถึงแหล่งทุน โดยจะตั้ง "กองทุนสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย" ขนาด 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกมิติ แบบตรงจุดเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วย
2. มาตรการลดภาระทางการเงินและแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน และครอบคลุม เข้าถึงผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง
3. มาตรการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั้งยืนในอนาคต รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยในการเติบโตของเอสเอ็มอี
"พรรคขอเสนอนโยบายสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะเป็นนโยบายและมาตรการเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านการจัดตั้ง "กองทุนสร้างอนาคตเอสเอมอีไทย" วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทยทุกมิติ การแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน การพัฒนาขีดความสามารถเอสเอมอี บุคลากร ทักษะ องค์ความรู้ที่แข่งขันได้ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอสเอ็มอีเติบโตได้ ซึ่งมองว่าวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสของภาครัฐเอกชนที่จะร่วมปรับใหญ่ ปรับรัฐกับเอกชนให้เชื่อมโยงไปด้วยกันได้ พรรคเสนอปรับการดำเนินงานให้เป็นการรวมพลังจริงๆ" นายอุตตม กล่าว
พร้อมระบุว่า จากการพบปะกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีครั้งนี้ พรรคฯ ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก เพื่อจะนำไปประมวลแนวทางการแก้ปัญหา และผนวกเข้ากับนโยบายช่วยเหลือและพัฒนาเอสเอ็มอีไทยของพรรคต่อไป
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ กระทบระบบเศรษฐกิจหนักกว่าวิฤตต้มยำกุ้ง และส่งผลต่อเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ และเป็นที่น่าตกใจว่า GDP ในภาคเอสเอ็มอีมีสัดส่วนเพียง 34% สะท้อนให้เห็นว่า ขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอสเอ็มอีอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องการที่พึ่งในการขับเคลื่อนไปข้าง
ทางสมาพันธ์ฯ ได้นำเสนอแนวคิดในการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีกับทุกภาคส่วนมาโดยตลอด แต่พบว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้หนี้สิน การเข้าถึงแหล่งทุน แม้กระทั้งนโยบายพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง
"สมาพันธ์พร้อมที่จะนำเสนอและพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง และยินดีที่พรรคการเมืองหยิบสิ่งที่สมาพันธ์ฯ คิดไปกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีหลุดพ้นจากปัญหา และสามารถเติบโตได้ในอนาคต อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจกลุ่มเอสเอ็มอีให้มากขึ้น แล้วกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศให้ยึดโยงกับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่กว่า 99.5%ของประชากรทั้งประเทศ" นายแสงชัย กล่าว
อุตตม ยังไม่ฟันธง สมคิด จะร่วมงานกับพรรคสร้างอนาคตไทยรูปแบบใด
นายอุตตม กล่าวด้วยว่า ได้มีการหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อตัดสินใจที่จะก่อตั้งพรรคก็ได้เรียนให้ทราบ โดยนายสมคิด ได้ให้การสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ทั้งนี้ ได้เรียนต่อนายสมคิด ถึงแนวความคิดของคนในพรรคว่าต้องการให้มาทำงานร่วมกัน เป็นหลักในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งนายสมคิด ก็รับทราบแล้ว ขณะเดียวกันจะมาในรูปแบบไหนอย่างไรต้องรอก่อน เพราะต้องมีกระบวนการ และขณะนี้นายสมคิดยังไม่ได้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค
"เราได้คุยกับท่าน (สมคิด) ไปแล้ว ว่าเราอยากเห็นท่านมาทำงาน เพราะมีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน เพื่อมาร่วมกันสร้างอนาคต ทั้งนี้ ท่านรับทราบแล้ว แต่คงไม่ได้กำหนดเวลา ขอให้เวลาท่าน โดยส่วนตัวผมว่าแคนดิเดตนายกเป็นท่านสมคิด แต่ก็ต้องไปฟังความเห็นคนอื่น และต้องมีการหารือกันในพรรคอีกครั้ง" นายอุตตม กล่าว
ทั้งนี้ พรรคยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดประชุมใหญ่ของพรรค โดยคาดว่าจะจัดในช่วง 2-3 เดือนหน้า ซึ่งจะได้เห็นโครงสร้างพรรค และตัวบุคคลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังมีระยะเวลาอยู่ และไม่มีความจำเป็นต้องออกมาพร้อมโครงสร้างพรรค
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเกิดขึ้นนั้น ทางพรรคก็ได้มองอยู่ แต่เนื่องจากเป็นพรรคใหม่ การเตรียมตัวจึงค่อนข้างกระชั้นชิดมาก จึงอาจทำได้ไม่ทัน อีกอย่างคือพรรคถือกำเนิดขึ้นมาโดยการมองในภาพใหญ่ที่ต้องการฟื้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากไม่ส่งคนลงสมัคร พรรคก็ยินดีสนับสนุนผู้ที่จะมาแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้เพื่อประชาชนทุกคน