พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ในวันนี้มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 6 กลุ่ม และ 1 กลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) บริเวณหน้าวัดมกุฏกษัตริย์ เลียบคลองผดุงกรุงเกษม (พักค้างแรม), กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกลุ่มแนวร่วม บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ (พักค้างแรม), กลุ่มสหพันธ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) บริเวณหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ใต้สะพานพระราม 8 (พักค้างแรม), กลุ่มประชาคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ บริเวณรัฐสภา เวลา 08.00 น., กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลา 16.00 น.,กลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา เวลา 17.30 น. และกลุ่มเฝ้าระวังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง เวลา 17.30 น.
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งจัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมฯ ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
สำหรับการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 14 ก.พ.65 กลุ่มภาคีสีรุ้งและกลุ่มแนวร่วม, กลุ่มสภาประชาชน 4 ภาค, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย(สกท.), กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และภาคีแนวร่วม, กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.), กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกลุ่มแนวร่วม, กลุ่มพลเมืองโต้กลับ, กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย, ส่วนกลุ่มเฝ้าระวังกลุ่มก่อความไม่สงบทะลุแก๊สไม่พบการรวมกลุ่มของมวลชนในพื้นที่แต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่เดือน ก.ค.63 จนถึงปัจจุบันมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมฯ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 821 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 474 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 347 คดี
โฆษก บช.น.กล่าวว่า ขอย้ำเตือนไปยังผู้ที่คิดก่อเหตุความไม่สงบ และผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมฯ โดยผิดกฎหมายว่าหากมีการก่อเหตุสร้างความเสียหายสร้างความเดือดร้อนในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวทุกราย และ ขอแจ้งเน้นย้ำว่าขณะนี้แม้กรุงเทพมหานครจะถูกปรับให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่การชุมนุมฯ หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้นยังคงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 ม.ค.2565, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 1 พ.ย.2564 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการร่วมกิจกรรมการชุมนุมฯ ต่างๆ เพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยโดยรวมของประเทศชาติและประชาชน