นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม บริหารงานล้มเหลวทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการบริหารงบประมาณ ที่มีการโอนงบกลางปี โอนงบฉุกเฉินเร่งด่วน ที่ใช้โดยผิดวัตถุประสงค์
จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงให้เห็นดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยว่า คะแนนลดลงเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 64 อยู่ที่ 35 คะแนน อันดับโลกจาก 180 ประเทศอยู่ที่ 110 ส่วนอันดับในอาเซียนจาก 10 ประเทศอยู่อันดับ 6
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อบริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว 23,528,000 ล้านบาท ประเด็นที่สำคัญ คือ งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 8 ปีรวมเงิน 757,779 ล้านบาท ซึ่งใช้งบจำนวนมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา
อย่างไรก็ดี งบกลางนั้น ถือเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของรัฐบาล ให้สามารถใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินนโยบายได้อย่างรวดเร็วคล่องตัว และสามารถบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยเหตุนี้รายจ่ายงบกลาง จึงไม่มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับผลผลิต กิจกรรม ตัวชี้วัด และแผนการใช้จ่ายเงินอย่างชัดเจน
ด้านฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปใช้จ่ายภายในวัตถุประสงค์ของงบกลางแต่ละรายการ และอำนาจในการอนุมัติให้จ่ายเป็นอำนาจของนายกฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด
"ถ้านายกฯ สุจิรตจริงทำไมถึงมีการโอนเงินเข้างบกลางจำนวนมากขนาดนี้ งบกลางต้องใช้เฉพาะเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก" นายนิคม กล่าว
สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 63 รัฐบาลใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจนหมดเกลี้ยง จำเป็นต้องหาเงินมาเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจ SMEs ที่ต้องปิดกิจการ เนื่องจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่จะไปจัดงบฯ กลางปี ก็เกรงว่าไม่ทันการณ์ จึงอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาใช้ก่อน
รวมทั้งให้สำนักงบประมาณ ออก พ.ร.บ.โอนงบ ฯ ปกติ 88,453 ล้านบาท มาใส่ในงบกลาง รายการสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทำให้งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีสัดส่วนต่องบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.76% สูงกว่ากรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลตั้งงบกลางรายการดังกล่าวนี้ได้ไม่เกิน 3.5% จึงจำเป็นต้องขยายกรอบวินัยการคลังในส่วนของงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้นไปเป็น 7.5%
"ทั้งหมดคือการผิดวินัยทางการคลังอย่างชัดเจน ทำผิดกฎหมายแต่แก้ให้ถูก ทั้งนี้ ประชาชนสอบถามมาว่านายกฯ มาสร้างหนี้ไว้ ให้ลูกหลานมาใช้หนี้แทน ซี่งเคยมีคนคำนวณว่าถ้าใช้หนี้ขนาดนี้น่าจะใช้เวลา 70-80 ปี ยังไม่พอนายกฯ ยังไปสร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม มาแจกจ่ายแต่ก็ไม่ทั่วถึง โครงการคนละครึ่งผิดวิธี เนื่องจากอาจเป็นการเอื้อนายทุน ซึ่งทั้งหมดนั้นถือเป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์" นายนิคม กล่าว