น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการต่อมาตรการโครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้เงินไปแล้วกว่า 2.2 แสนล้านบาท แม้โครงการนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ไม่เหมาะนำมาใช้ในการเยียวยา หรือช่วยเรื่องค่าครองชีพ เพราะเป็นการแจกเงินแบบใครมาก่อนได้ก่อน และประเทศไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาวได้ด้วยโครงการคนละครึ่ง
พร้อมเสนอว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนฟื้นฟูประเทศอย่างจริงจัง และใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้คนที่มีทุนน้อยมีโอกาสได้เติบโต เกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพ และทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายหลังโควิดเกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด รัฐบาลได้กู้เงินไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท ผ่านไปเกือบ 2 ปี อนุมัติเกือบเต็มวงเงิน มีงบสำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแค่ 7.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่าเป็นงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีวิกฤติเศรษฐกิจมา
ทั้งนี้ เมื่อไปดูเศรษฐกิจรายภูมิภาค ก็ยังไม่ฟื้นกลับมา ด้านอุปโภคบริโภค และรายได้เกษตรติดลบ แสดงว่าแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้ไม่ได้ผล และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 7.7 หมื่นล้านบาท มีแต่โครงการลักษณะเบี้ยหัวแตก หรือโครงการท่องเที่ยวคุณภาพมีเพียง 3 โครงการ ใช้เงินเพียง 800 ล้านบาท อุตสาหกรรมเพิ่มคุณภาพสูง มีโครงการเพียง 4 โครงการ ใช้เงิน 450 ล้านบาท
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิดมองไม่เห็นอนาคตและเดินถอยหลัง ประเทศต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้อัดฉีดเงินลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เช่น เกาหลีใต้ลงทุน 3 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว
การที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า มีคำขอส่งเสริมการลงทุนถึง 6 แสนล้านบาท แต่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 7 อุตสาหกรรม เพียง 98,970 ล้านบาท และยังไม่ใช่การลงทุนจริง ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไทยก็ยังไม่ได้เป็นฐานการผลิต ซึ่งมาตรการส่งเสริมเพิ่งผ่าน ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่เวียดนามกลับมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้อย่างไร ในเมื่อค่าครองชีพยังสูงอยู่ ส่งผลโดยตรงโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากราคาสินค้าอาหาร และน้ำมันยังเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนกรณีที่ ครม. มีมติลดเก็บภาษีสรรพสามิต ลิตรละ 3 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ที่ทำให้สูญเสียรายได้ 17,100 ล้านบาทนั้น รัฐบาลต้องไปตัดลบงบประมาณตรงส่วนไหน เรื่องนี้ รมว.คลังต้องมีการชี้แจงว่าจะกระทบกับโครงการใดหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา ยังไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ หาก SMEs ยังไม่ฟื้น ซึ่งแทบไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาช่วยเหลือ และปัจจุบันเกษตรกรยังมีรายได้ที่ตกต่ำ
ส่วนกรณีที่บอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) แก้สัญญาสัมปทานให้กับผู้ประกอบการในท่าอากาศยาน คือ ดิวตี้ฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานไปอีก 2 ปี และยังมีมติให้มีการแก้ไขสัญญาการจ่ายรายได้ขั้นต่ำตามรายหัวผู้โดยสาร ทำรัฐสูญรายได้เป็นแสนล้านบาท ซึ่งการแก้ไขสัญญาสัปทานโดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ถือว่าถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่
ส่วนเรื่องการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ได้แก้ประกาศเรื่องการควบรวมกิจการในปี 61 โดยไม่ต้องมีการมาขออนุญาตแล้ว ให้มีการควบรวมให้เรียบร้อยแล้วมารายงานให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทราบ และหากเกิดผลกระทบกับสภาวะการแข่งขัน กสทช.ค่อยมาออกมาตรการหลังการควบรวม แต่กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ธันวาคม ซึ่งชื่อค้างอยู่ที่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจริงหรือไม่ หรือต้องการให้บอร์ดชุดเดิม ดูแลการควบรวมทรูและดีแทคเสร็จก่อนหรือไม่