นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งคำถามถึงประเด็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลจังหวัดระยองว่า สรุปแล้วน้ำมันรั่วทั้งหมดกี่ลิตร จากที่ออกมาระบุว่ารั่ว 5 หมื่นลิตร แต่เทสารเคมี dispersant จำนวน 7 หมื่นลิตร โดยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 รัฐอนุญาตให้ใช้สาร Slickgone NS (Dasic) ปริมาณ 40,000 ลิตร เนื่องจากมีน้ำมันรั่วลงสู่ทะเลประมาณ 400,000 ลิตร หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 10
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท DASIC International ผู้ผลิตแนะนำให้ใช้สาร Slickgone NS (Dasic) สัดส่วนที่ 1 ต่อ 20-30 จึงจะได้ผลลัพธ์ในการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ แต่วันต่อมา (27 ม.ค. 65) รัฐอนุมัติให้ใช้สารเพิ่มอีก 36,400 ลิตร อย่างไรก็ดี การอนุมัติในวันที่ 27 ม.ค. ระบุว่า ไม่อ้างอิงกับปริมาณน้ำมันรั่วอีกต่อไป เนื่องจากต้องการควบคุมไม่ให้น้ำมันเข้าชายฝั่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วน้ำมันก็เข้าสู่ชายฝั่ง สร้างปัญหาโดยเฉพาะชาวประมงในพื้นที่
นพ.วาโย ยังได้หยิบยกข้อสังเกตจาก น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่จับพิรุธนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีโชว์กินปูเพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องอาหารทะเลระยองปลอดภัยว่า นายวราวุธ กินปูคนละตัวกับปูจากระยองที่ น.ส.เบญจา ฝากไปให้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใส และไม่จริงใจในการแก้ปัญหาน้ำมันรั่ว ถัดมาในวันที่ 29 ม.ค. 65 มีการอนุมัติให้ใช้สารเพิ่มอีก 9,000 ลิตร ซึ่งรวมสารเคมีเป็นปริมาณกว่า 80,000 ลิตรแล้ว ในขณะที่น้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลในข่าวเก่ากว่า 10 ปี พบพิรุธข้อมูลน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง โดยขณะนั้นมีน้ำมันรั่ว 50,000-70,000 ลิตร แต่ใช้สารซิลิคกอนไป 30,000 กว่าลิตร ซึ่งบริษัท DASIC International อธิบายสัดส่วนการใช้ คือ 1 ต่อ 10 ถึง 1 ต่อ 20 ซึ่งอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าสารเคมีที่ใช้ต้องสอดคล้องหรือจำเพาะกับชนิดน้ำมัน ต้องคำนวณสัดส่วนการใช้ เพราะหากใช้น้อยเกินไปน้ำมันก็จะไม่แตกตัว หรือถ้ามากเกินไปก็ไม่เกิดประสิทธิภาพ
ต่อมาน้ำมันรั่วครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 ลิตร ซึ่งก็มีการขอใช้สาร dispersant จำนวน 5,000 ลิตร เท่ากับเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในการนำไปย่อยสลายคราบน้ำมัน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สูงเกินความจำเป็น ทำให้กรมควบคุมมลพิษ ยังไม่อนุมัติให้ใช้สารดังกล่าว
"คำถามที่ต้องตอบ คือ 1. เหตุที่ต้องใช้สารเคมีปริมาณมากเกินกว่าที่คำนวณได้ เพราะปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจริงนั้น มีปริมาณมากกว่าที่ชี้แจง ใช่หรือไม่ และ 2. ปริมาณสารเคมีที่เทลงทะเลมากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร" นายนพ.วาโย กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสาร Slickgone NS มีพิษชั่วคราว ถึงแม้จะไม่เป็นมะเร็ง แต่น้ำมันมีสารก่อมะเร็งที่สำคัญ คือ benzene a pyrene และต้องยอมรับว่า น้ำมันที่แตกตัวออกโดยสาร dispersant นั้นยังคงมีพิษอยู่ ถึงแม้จะเชื่อได้ว่าพิษนั้นจะลดน้อยลง ดังนั้น ถ้าเทสารเคมีเยอะเกิน หรือน้อยเกิน น้ำมันจะตกค้างในทะเล ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชน และผลกระทบอยู่ต่อเนื่องเป็น 10 ปี
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงการอภิปรายของ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล กรณีเกิดเหตุท่อน้ำมันของ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) รั่วในทะเลว่า กรณีที่ได้อนุมัติให้ใช้สารกำจัดน้ำมันจำนวนมาก เนื่องจากเกิดเหตุในช่วงกลางคืน จึงไม่สามารถมองเห็นว่ามีปริมาณน้ำมันรั่วลงทะเลมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงต้องดำเนินการป้องกันล่วงหน้าไว้ก่อน และไม่มีความจำเป็นที่กระทรวงฯ จะต้องปิดบังข้อมูล
สำหรับสารกำจัดน้ำมันที่นำมาใช้ครั้งนั้น เป็นสารเคมีตัวเดิมที่มีการพัฒนาคุณภาพระยะที่ 3 ระดับฟู้ดส์เกรดที่สามารถสลายตัวได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าภายใน 24 ชั่วโมง จะสามารถคืนสภาพธรรมชาติกลับมาได้ราว 90%