นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ปชป.มีนโยบายชัดเจนที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และชะลอการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายเดิมที่ออกมาบังคับใช้ในปี 42 มีความชัดเจนเพียงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าว
"ทั้งสองเรื่องนี้จะเรียกคืนความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ นักลงทุนที่หนีไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านก็จะกลับมา" นายกรณ์ กล่าว
พร้อมกันนั้น จะผลักดันให้มีการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ให้เหลือ 25% เพื่อผ่อนคลายภาระของผู้ประกอบการ
นายกรณ์ กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่ต้องส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และทำให้เกิดเสถียรภาพด้านการเงินด้วย
ส่วนนโยบายด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ปชป.ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ยึดติดว่าจะต้องนำเข้าตลาดหุ้นเท่านั้น เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหุ้น ขณะนี้จะมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
แต่รูปแบบการปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจอาจเป็นไปในรูปแบบการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน เช่นเดียวกับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่(IPP) แต่หากรัฐวิสาหกิจมีสถานะที่เหมาะสมจะนำเข้าตลาดหุ้นก็สามารถทำได้
"เรื่องนโยบายตลาดทุนไม่ใช่เรื่องที่นำมาใช้หาเสียง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องนี้อันตราย แต่เรามองเห็นปัญหาและพยายามเข้ามาดูว่าจะช่วยอย่างไร" นายกรณ์ กล่าว
ในส่วนตลาดทุน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ยังพัฒนาล่าช้า โดยมีเอกชนเข้ามาระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพียง 1 ใน 5 จากเดิม 1 ใน 3 ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นมีเพียง 3.5 แสนบัญชี ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้จะช่วยให้ตลาดทั้งสองพัฒนาไปมากกว่านี้
นโยบายเกี่ยวกับค่าเงินบาท นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะเราเป็นประเทศเล็กหากมีการเคลื่อนย้ายทุนจากตลาดที่ใหญ่กว่าก็จะได้รับผลกระทบ
สำหรับแนวทางการจัดหารายได้นั้นจะต้องขยายฐานภาษี เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ของรัฐบาล พร้อมทั้งเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับรูปแบบการบริหารนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ โดยแบ่งไว้เป็นทุนสำรอง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อีก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐใช้รองรับการออกพันธบัตร ส่วนที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐก็นำไปลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม
"ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องกระจายเงินทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐออกไป โดยนำไปสนับสนุนการลงทุนระยะยาวมากกว่า" นายกรณ์ กล่าว
ขณะที่นายเสถียร สุรัตนกวีกุล ทีมนโยบายเศรษฐกิจ กรรมการฝ่ายวิชาการและนโยบาย พรรคพลังประชาชน(พปช.) กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากนักวิชาการของพรรคพลังประชาชนประเมินว่ามาตรการดังกล่าวะเป็นการกีดกันการไหลเข้าออกของเงินอย่างเสรี และทำให้ทุนไทยต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ
นอกจากนั้น ยังเห็นว่าทางการควรปล่อยให้เงินบาทลอยตัวสู่ระบบดุลยภาพและไม่ควรเข้าไปแทรกแซง และเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ อินเวสเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อนำเงินทุนสำรองที่ปัจจุบันมีอยู่ในระดับสูงไปลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำ บ่อน้ำมัน เรียลเอสเตท แต่อย่างไรก็ตามการตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องดูกฎหมายในประเทศให้เปิดกว้างสามารถทำได้ก่อน
นายเสถียร ยังเห็นว่า ธปท.ควรรักษาระดับส่วนต่างระหว่างเงินกู้และเงินฝากให้มีช่องว่างน้อยลง โดยมองว่าช่วงห่างที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 2.8%
ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาตลาดทุนไทยนั้น พรรคเห็นว่าควรเพิ่มสินค้าดีๆ เข้ามาในตลาดทุน อย่างเดียวกับ บมจ.ปตท.(PTT)ที่เป็นแบบอย่างที่ดี เนื่องจากเป็นที่สนใจของต่างชาติค่อนข้างมาก รวมถึงการถึงบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนไทย ซึ่งจะทำให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น
"นโยบายของพรรคระยะสั้นคือการคืนสภาพคล่องให้กับตลาดในประเทศ ระยะกลาง คือ การเพิ่มสินค้าสู่ตลาดทุน และระยะยาว คือ การให้ความสำคัญของการศึกษา" นายเสถียร กล่าว
ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย(ชท.) กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งคือการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและมีความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์ กติกา เนื่องจากเรื่องดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจในการเข้ามาลงทุน โดย ชท.อยากให้มีนักลงทุนสถาบันมีการซื้อขายในจำนวนมาก และเป็นจุดเน้น ซึ่งจะทำให้สามารถดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน
"กระบวนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นควรที่จะสร้างให้มีสถาบันเพื่อทำให้ตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งและมีความเป็น Professional ซึ่งการที่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับตลาดทุนไทยก็จะเป็นผลดีต่อนักลงทุน และจะเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นเอง ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ความโปร่งใสในการบริหารของบริษัทนั้นๆ" นายวีระศักดิ์ กล่าว
ส่วนมุมมองในกรณีคดีของ PTT นั้น มองว่าข้อผิดพลาดน่าจะเกิดมาจากเรื่องท่อส่งก๊าซที่เป็นของรัฐที่ถือเป็นกิจการผูกขาด เป็นสมบัติของประเทศ
"ความผิดพลาดของ ปตท.อยู่ที่ท่อส่งก๊าซที่เป็นสมบัติของประเทศ หากนำกลับคืนมาเป็นของรัฐก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถึงแม้จะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นบ้างก็ไม่น่าเป็นไร เพราะกิจการอื่นๆของ ปตท.ยังสามารถแข่งขันได้ และอยากให้ Case ปตท.นี้เป็นบทเรียนสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอีก"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายมานะ มหาสุวีระชัย แกนนำพรรคประชาราช(ปชร.) เปิดเผยว่า อยากให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ให้ความยุติธรรมแก่นักลงทุนรายย่อย ไม่ถูกเอาเปรียบจากนักลงทุนรายใหญ่ที่มักจะรู้ข่าวสารภายในก่อน
"กฎหมายที่มีอยู่ก็บทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำผิดอยู่แล้ว เพียงแต่ควรจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ" นายมานะ กล่าว
ทั้งนี้ หากพรรคได้รับคัดเลือกในการจัดตั้งเป็นรัฐบาลในครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่พรรคจำผลักดัน คือ การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นแหล่งสำคัญในการระดมทุนของสินค้าเกษตรของเกษตรกร อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการจัดการและพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกได้ และตลาดสินค้าเกษตรฯยังช่วยลดการแทรกแซงราคาพืชผล
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/นิศารัตน์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--