(เพิ่มเติม) เพื่อไทย คาดกม.ลูกพรรคการเมืองผ่านสภาไม่ง่าย เชื่อถกยาวประเด็นครอบงำพรรค

ข่าวการเมือง Monday February 21, 2022 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 24-25 ก.พ. 65 ว่า สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาต้องร่วมกันพิจารณาคือจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 100 คน มาเป็น 150 คน ส่วนประเด็นองค์ประกอบอื่นๆ ก็แล้วแต่สมาชิกที่สนใจว่าจะแก้ประเด็นอะไร ก็จะถือโอกาสแก้มาในรอบนี้ด้วย ดังนั้นจึงมีหลักการที่หลากหลายมาก ซึ่งรัฐสภาอาจจะพิจารณารวมกันแล้วลงมติทีละร่าง ซึ่งบางร่างอาจจะไม่ถูกรับหลักการ หรือรับหลักการรวมกัน ซึ่งก็จะมีประเด็นที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ค่อนข้างมาก

นพ.ชลน่าน กล่าวตอบในประเด็นหากร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอไป อาจจะไม่ผ่านรับหลักการว่า ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก ซึ่งจะพยายามชี้แจงหลักการ และเหตุผลให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง เพราะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนออกมา มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองมีปัญหามาก ประเด็นที่หลายพรรคเห็นว่าต้องแก้ไข เช่น มาตราที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 28 มาตรา 29 เพราะหลายพรรคถูกยุบไปแล้วด้วยมาตรานี้ ด้วยข้อหาควบคุม หรือครอบงำพรรคการเมือง ทำให้ถูกยุบพรรค

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงแนวทางการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะพิจารณาร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะนำร่างของพรรคการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาลมาพิจารณาเป็นหลัก

ทั้งนี้หากการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับผ่านในชั้นรับหลักการแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาของกฎหมายที่กำหนด 180 วัน และจะใช้เวลาในช่วงปิดสมัยประชุมหารือในคณะกรรมาธิการก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง ในช่วงเดือนพ.ค. และเชื่อว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไป

อย่างไรก็ตามไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ ร่างพ.ร.บ.ของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้แก้ไขในมาตราที่ 28 และมาตรา 29 ที่สามารถให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลแก่พรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ โดยระบุว่า น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่ามีเจตนาอย่างไร โดยเฉพาะกรณีให้บุคคลภายนอกเข้ามาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมรัฐสภา เพราะควรจะต้องเป็นสมาชิกพรรค ถึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดเอาไว้แบบนั้น

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า การเสนอให้แก้ไขเช่นนี้ทำให้กฎหมายบิดเบี้ยว กฎหมายและรัฐธรรมนูญเขียนมาดีอยู่แล้ว ซึ่งต้องการให้สอดคล้องกับการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่า จะไปแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฏหมายหลักให้บิดเบี้ยวไม่ได้ ส่วนจุดยืนของรัฐบาลจะไม่รับร่างดังกล่าวหรือไม่นั้น ในการประชุมวิปรัฐบาลจะมีการพูดถึงประเด็นนี้ แต่ส่วนตัวจะไม่รับร่างดังกล่าว เพราะทำให้กฎหมายบิดเบี้ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ