นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ....และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำคัญ และเกี่ยวเนื่องกับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น เมื่อเป็นผลพวงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนอยู่แล้ว อักทั้งยังเป็นไปตามมติวิปรัฐบาล
พร้อมเห็นว่า ในส่วนของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะพิจารณาในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยน่าจะผ่านในวาระแรก และเข้าสู่การตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาต่อไป
ส่วนกรณี ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้แก้ไขในมาตราที่ 28 และมาตรา 29 ที่สามารถให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลแก่พรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองได้นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขอรอดูรายละเอียดก่อน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ยึดหลักปฏิบัติตามมติวิปรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ในวาระแรกนั้น เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อรองรับกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขให้ใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ จึงทำให้ต้องแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องให้ความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้ร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ได้
ทั้งนี้ จะยึดร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นร่างหลักในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)
ส่วนรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ นั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะมีหลายร่าง อีกทั้งร่างกฎหมายของแต่ละพรรคก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการฟังการอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภา และพิจารณาว่าอะไรที่สามารถยอมรับและปฏิบัติได้ รวมถึงถ้ามีความเห็นร่วมกันได้ก็เดินหน้ากันต่อไป ส่วนอะไรที่ขัดกัน ก็ต้องมีการลงมติโดยสมาชิกของแต่ละพรรค เพราะร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น อาจจะมีความเห็นที่หลากหลาย