นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ตัวแทน 5 องค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย คือ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 (ครป.) , สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) , มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrcF) , มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (มรพ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้สอบหาข้อเท็จจริงการทุจริตประพฤติมิชอบและหามาตรการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์
นายเมธา กล่าวว่า สืบเนื่องจากการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีปัญหากระบวนการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะหัวหน้าชุดทำคดี ต้องลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย รวมถึง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่เสียชีวิตในเรือนจำ
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กมธ.ป.ป.ช.ทำการสอบสวนเรื่องนี้และขอให้เรียกสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.งกลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดโดยตรงตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ที่มีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.ปวีณ ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในขณะนั้น 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 4.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ขณะนั้น 5.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.ก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างช่วงรอยต่อของการทำคดี 6.พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย
รวมถึง 7.สอบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และขอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ กรณี พล.ท.มนัส เสียชีวิตในเรือนจำจากเหตุหัวใจวายว่าเป็นการตัดตอนคดีหรือไม่ รวมถึงพยานบุคคล โดยเฉพาะนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษทางการเมืองขณะนั้นที่ให้ข้อมูลว่าขณะต้องขังได้พูดคุยกับ พล.ท.มนัส ในเรือนจำ โดย พล.ท.มนัส ได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารจำนวนหนึ่งเพื่อจะไปอุ้มพล.ต.ต.ปวีณ แต่ไม่สำเร็จ 8.ผู้บัญชาการกองทัพภาค 4 9.ผู้บัญชาการทหารบก และ 10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เราจะดูข้อเท็จจริงเรื่องนี้และเชิญบุคคลที่ผู้ร้องกล่าวถึงมาให้ปากคำเพื่อขอข้อเท็จจริงที่มากกว่านี้ ส่วนที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษก กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จะนำเรื่องนี้เข้า กมธ.กฎหมายฯ จะสามารถทำเรื่องร่วมกันได้ แต่ต้องดูว่ารายละเอียดเหมือนกันหรือไม่ โดย กมธ.กฎหมายมีหน้าที่เรื่องนโยบายด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีหน้าที่เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กมธ.ป.ป.ช.