เลือกตั้ง'50:เอแบคโพลชี้กลุ่มพลังเงียบยังเป็นตัวแปรพลิกผลการเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Monday December 10, 2007 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจเรื่องความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนใจเลือกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงในผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง 2550 พบว่าไม่ว่าประชาชนตั้งใจจะเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ 90% มีความเห็นเดียวกันคือต้องการเห็นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง 
โดยเมื่อจำแนกตามพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกนั้น พบว่าผู้ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชนมีอยู่ 93.6% ส่วนผู้ที่ตั้งจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่ 90.6% ขณะที่ผู้ตั้งใจจะเลือกพรรคอื่นๆ มีอยู่ 88.5%
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นหลังการเลือกตั้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความรักความสามัคคีของคนในชาติ รองลงมาคืออยากเห็นสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง
นายนพดล กรรณิการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นเหล่านี้ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากพรรคการเมืองให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน ส่งผลให้กลุ่มพลังเงียบยังไม่เทคะแนนให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในขณะนี้
ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคการเมืองต่างๆ อาจไม่สนใจความต้องการของกลุ่มพลังเงียบ และอาจกำลังพยายามทำให้กลุ่มพลังเงียบเบื่อหน่ายต่อการเมืองจนไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้แผนที่พรรคการเมืองบางพรรควางไว้เพื่อชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยพยายามรักษาฐานเสียงของตนไว้ตามที่มีอยู่ขณะนี้ก็เพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งแล้ว แต่ถ้ากลุ่มพลังเงียบออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากการทำนายของโพลล์และการคาดเดาของกลุ่มต่างๆ ได้ ดังนั้นการชี้ขาดผลการเลือกตั้ง 2550 จึงน่าจะอยู่ที่กลุ่มพลังเงียบที่สำรวจพบว่าเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในขณะนี้
เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกตั้ง 2550 นี้ โดยพิจารณาจำแนกตามพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกนั้น พบว่ากลุ่มผู้ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชนระบุแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งอันดับแรก ได้แก่ หัวหน้าพรรคการเมือง รองลงมาคือใช้ข้อมูลจากคนในครอบครัว และใช้ข้อมูลจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนกลุ่มประชาชนที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์นั้น แหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเป็นอันดับแรก คือหัวหน้าพรรคการเมือง รองลงมาคือใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชนที่วิเคราะห์ข่าวโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และการใช้ข้อมูลจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง
การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว มาจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 7,589 ตัวอย่าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ