เอแบคโพลล์เผยคนส่วนใหญ่ตั้งใจไปเลือกตั้งหวังเห็น ศก.ฟื้น-ประเทศสามัคคี

ข่าวการเมือง Thursday December 6, 2007 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความตื่นตัวในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน และบทบาทของแกนนำชุมชนในการเลือกตั้ง 2550" พบว่าประชาชนถึง 73.2% แสดงความตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.50 
ในการสำรวจยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือก ส.ส.จากพรรคการเมืองใด ขณะที่ประชาชนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับประชาชนที่มีพรรคการเมืองอยู่ในใจแล้วแต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ 3 อันดับแรกที่ประชาชนต้องการอยากจะเห็นหลังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจดีขึ้น 91.7%, ความรักความสามัคคีของคนในชาติ 81.4% และสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น 72.8%
ส่วนประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบสัดส่วนทั่วประเทศจำแนกตามพรรคการเมืองนั้น คาดกันว่าพรรคพลังประชาชนจะได้ 39 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 33 ที่นั่ง ส่วนพรรคอื่นๆ เช่น ชาติไทย, เพื่อแผ่นดิน, รวมใจไทยชาติพัฒนา และประชาราช เป็นต้น จะได้ 8 ที่นั่ง
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นจากแกนนำชุมชน เช่น อบต. และ อบจ.ในทุกจังหวัดของประเทศ เห็นว่าพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงแบบเข้มข้นในพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ พรรคพลังประชาชน รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคชาติไทย
โดยพรรคที่หาเสียงได้เข้มข้นมากที่สุดในภาคเหนือ, ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ พรรคพลังประชาชน ขณะที่ภาคใต้นั้นพรรคประชาธิปัตย์หาเสียงได้เข้มข้นมากที่สุด
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ทำให้เกิดสมมติฐานหลายประการ เช่น โอกาสที่พรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้งมีสูงกว่าพรรคประชาธิปัตย์เพราะถ้าเทียบกันแต่ละภูมิภาคแล้ว อาจสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทหาเสียงและการบริหารจัดการรณรงค์เพื่อชนะการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนมีมากกว่าทุกพรรคการเมืองในแต่ละภูมิภาค แม้แต่พื้นที่ที่คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นพื้นที่ที่พรรคพลังประชาชนไม่มีโอกาสจะชนะได้
ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว มาจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 33 จังหวัดของประเทศ และแกนนำ อบต.,อบจ. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างประชาชนจำนวน 7,589 ตัวอย่าง และแกนนำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 2,109 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 9,698 ตัวอย่าง และดำเนินโครงการในระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-5 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ