ส.ส.ชาติไทยพัฒนา ยันสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 เป็นไปตามเจตนารมณ์รธน.

ข่าวการเมือง Monday March 7, 2022 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ?) พ.ศ. ?และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ?) พ.ศ. ? รัฐสภา กล่าวว่า กรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมเสนอคำแปรญัตติต่อสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้เป็นระบบปันส่วนผสมแทนระบบคู่ขนานที่รัฐสภารับหลักการไปแล้วนั้น

นายนิกร กล่าวว่า การเสนอคำแปรญัตติดังกล่าวสามารถเสนอได้ตามสิทธิของ ส.ส.ซึ่งในชั้น กมธ.ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นว่าคำแปรญัตติดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 หรือไม่ เพราะมีเนื้อหาที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งของพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนรวมข้างต้น

"เจตนารมณ์ของมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขคือให้หารด้วยจำนวน 100 คน เพื่อให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรง ไม่ใช่ใช้จำนวน 500 คน ซึ่งเป็นโดยอ้อม ส่วนที่มีการอ้างถึงถ้อยคำในมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญนั้น ในชั้นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และแม้ไม่แก้ไขจะไม่มีผลในทางบังคับใช้ เหมือนเป็นไส้ติ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มาตรา 93 และมาตรา 94 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับบัตรเลือกตั้งใบเดียว และ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญเคยแก้ไขแล้ว แต่ถูกร้องว่าส่อขัดหลักการจึงตัดออกภายหลัง แต่ในที่ประชุมมองว่าแม้คงไว้ก็ไม่มีผลใดๆ ทิ้งไว้แบบเดิมก็ไม่มีปัญหา" นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ถ้ามีผู้เสนอคำแปรญัตติในประเด็นดังกล่าว กมธ.ต้องรับและพิจารณา แต่จะมีปัญหาว่ารับแล้วจะผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผู้ที่เสนอคำแปรญัตติแพ้ในชั้น กมธ.ก็สามารถสงวนความเห็นไปสู้ในที่ประชุมรัฐสภาได้ ส่วนที่ นพ.ระวี ใช้สิทธิยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขกระทบสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือไม่นั้น การทำงานของ กมธ.ต้องเป็นไปตามกลไกของรัฐสภา จะหยุดพิจารณาไม่ได้

นายนิกร กล่าวว่า การประชุม กมธ.ในวันที่ 9-10 มี.ค.นี้ จะมีการหารือร่วมกันในประเด็นที่เห็นต่างกัน เช่น การใช้หมายเลขผู้สมัครจะใช้เบอร์เดียวกันทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ หรือแยกใช้คนละหมายเลข, การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เบื้องต้นจะคุยในหลักการก่อนลงรายละเอียดรายมาตรา นอกจากนั้นจะพิจารณาการกำหนดปฏิทินทำงาน โดยตนมองว่าระยะเวลาที่ปิดสมัยประชุมถึงปลายเดือน พ.ค.65 เพียงพอต่อการทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพราะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีจำนวนมาตราน้อยและใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก เมื่อทำแล้วเสร็จสามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ โดยอาจเพิ่มวันประชุมเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ได้

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ หากจะรีบดำเนินการก็สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ ได้ แต่หากไม่รีบรอการเปิดประชุมในสมัยสามัญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมส่วนใหญ่ ขณะที่กระแสข่าวยุบสภานั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะเข้าสู่ช่วงปีที่ 4 ของสภา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของฝ่ายค้านที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดังนั้นต้องจัดเต็ม เพราะมีโอกาสเดียว ส่วนรัฐบาลต้องตั้งรับเต็มที่ ดังนั้นไม่มีกลิ่นยุบสภาอะไรทั้งสิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ