นายวสันต์ มีวงษ์ กรรมการบริหารพรรคไทยภักดี พร้อมทีมกฎหมาย เดินทางมายื่นข้อเสนอของพรรคไทยภักดี ต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญ ผ่านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ.
สำหรับข้อเสนอที่ขอให้กมธ.วิสามัญฯ ดำเนินการพิจารณา มี 3 ข้อด้วยกัน คือ
1.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต รวมทั้งวิธีการคำนวณเพื่อหาสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อต้องยึดหลักที่ว่าคะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนน มีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง ทุกคะแนนของประชาชนต้องไม่สูญเปล่า ไม่ตกน้ำ การคำนวณสัดส่วนจึงจำเป็นจะต้องยึดถือตามหลักการดังกล่าวโดยไม่อาจเป็นอื่นได้ เพราะหากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดเป็นประเด็นข้อขัดแย้งขึ้น อาจทำให้มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบให้กระบวนการตรากฎหมายมีปัญหาล่าช้า
2.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง หากกมธ.ใช้โอกาสนี้แปรญัตติเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าให้ผู้รับเงินจากการซื้อเสียงมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้ให้เงินเพื่อซื้อเสียงได้ โดยผู้รับจะไม่มีความผิดตามกฎหมายเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีรางวัลนำจับสำหรับผู้รับเงินที่นำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ให้เงินซื้อเสียง เพื่อตัดวงจรการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสและสุจริตมากขึ้น
3.พรรคไทยภักดี เสนอให้ กมธ.พิจารณาระบบดิจิทัลบาท ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผ่านการโอนจากแอปพลิเคชั่นของธนาคารเท่านั้น โดยห้ามมิให้มีการใช้จ่ายด้วยเงินสดเด็ดขาด เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งแสดงถึงความเท่าเทียมกันในการใช้จ่ายงบประมาณของผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนอย่างแท้จริง
นายนิกร กล่าวว่า ประเด็นวิธีการคำนวณเพื่อหาสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มีผู้ยื่นแปรญัตติในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะนำเรื่องที่เสนอมานี้ขึ้นมาพิจารณาด้วย เพราะประเด็นเรื่องการนับคะแนนเป็นประเด็นใหญ่ ส่วนเรื่องที่จะให้ผู้รับเงินไม่มีความผิด เพราะไม่เช่นนั้นจะหาพยานไม่ได้ เนื่องจากมีความผิดทั้งผู้ให้เงินและผู้รับเงินนั้น เป็นประเด็นที่พูดคุยกันมาก ซึ่งต้องดูว่ามีหลักการในการจะแก้ไขครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตหรือไม่ เมื่อถึงวาระการประชุมเรื่องนี้ ตนก็จะช่วยนำเสนอต่อที่ประชุม
สำหรับเรื่องระบบดิจิทัลบาท ไม่มีกำหนดไว้ในหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องนอกหลักการ แต่ในชั้นกมธ.มีตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมด้วย จะช่วยนำเสนอให้ แต่คาดว่าไม่น่าจะนำมาปรับปรุงแก้ไขในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ เพราะเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเป็นระเบียบของกกต. เป็นผู้กำหนดวิธีการเองว่าจะให้พรรคการเมืองเปิดบัญชีหรือไม่ อย่างไร ยืนยันว่าเรื่องนี้จะถึงกกต. แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับกกต.ดำเนินการต่อไป