นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกล่าวก่อนการประชุมว่า ในการพิจารณาจะยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความกว้างกว่าเป็นหลัก เพราะร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้เฉพาะจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
โดยหลักการสำคัญคือเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหากันเองกับพรรคการเมือง โดยเชื่อว่าจะต้องมีการพูดคุยกันมากในฝ่ายการเมืองและฝ่าย ส.ว.ในกรรมาธิการ (กมธ.) เนื่องจากการประชุมที่ผ่านมา ส.ว.มีการแย้งโดยให้เหตุผลว่าจะขัดหลักการ ทั้งนี้ เรื่องไพรมารีโหวต ในร่างหลักคือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีไพรมารี แต่จะมีการฟังความเห็นจากตัวแทนสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 อีกเรื่องหนึ่งคือตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นกฎหมายที่มาจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตอนที่ร่าง ไม่ได้มีส.ส.หรือพรรคการเมืองเข้าไปให้ความเห็น จึงมีปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมา ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล จึงกำหนดให้ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดเท่านั้น
ส่วนร่างของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรายละเอียดที่เน้นเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกพรรคต้องถึงขั้นเหมือนสมัครส.ส. ซึ่งตนก็เห็นด้วย เพราะการเป็นสมาชิกไม่ควรจะต้องมีข้อจำกัดมาก โดยวิธีการพิจารณาจะยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักและพิจารณาไปทีละมาตรา ร่างนี้มีจำนวนมาตรามาก ซึ่งความเห็นจะแบ่งออกเป็นฝ่าย ส.ว.และ ส.ส. ซึ่งจะต้องพูดคุยกัน
ส่วนหากปรับขั้นตอนไพรมารีโหวตจะถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เพราะตอนยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการเสนอมาในวาระแรก นายนิกร กล่าวว่า ตนเตรียมจะเสนอหักล้าง เพราะตอนนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอร่างเข้ามาไม่มีไพรมารี ฉะนั้นหากจะบอกว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญให้มีไพรมารี ก็พูดไม่ได้ แต่เป็นการเพิ่มเข้าไปภายหลัง เรื่องนี้ตนเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะนำร่างของ กรธ. ที่เสนอเป็นร่างแรกมาเป็นข้อโต้แย้ง