พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ กรณีวันนี้ (18 มี.ค.) ได้มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.)บริเวณใต้ด่วนพระราม 6 ซึ่งกลุ่มนี้มีการพักค้างคืนอยู่ในบริเวณดังกล่าว 2. กลุ่มทะลุฟ้า บริเวณ สน.บางขุนนท์ เวลา 09.00 น. 3.กลุ่มสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย เวลา 08.00 น. และ 4.กลุ่มผู้ชุมนุมชาวยูเครน และแนวร่วม บริเวณสถานทูตรัสเซีย เวลา 14.00 น.
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้สั่งการให้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมฯ ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
สำหรับการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2565 กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.), กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการรถตู้ บริเวณกระทรวงคมนาคม และกลุ่มผู้ชุมนุมฯชาวยูเครน บริเวณหน้าสถานทูตรัสเซีย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือน ก.ค.63 จนถึงปัจจุบัน มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมฯ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 829 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 476 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 353 คดี
ด้าน พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. และรองโฆษก บช.น. กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.บางขุนนท์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา สืบเนื่องจากศาลอาญาตลิ่งชัน ได้ออกหมายจับ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65 กรณีไม่ยอมมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยมีเพื่อนร่วมพรรคการเมืองและผู้ชุมนุมฯ กลุ่มทะลุฟ้า ประมาณ 50 คน มาร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้รถเครื่องเสียงปราศรัยบริเวณ สน.บางขุนนท์ หลังจากนั้นในเวลา 09.30 น. พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์ ได้นำตัวนายรังสิมันต์ โรม ส่งต่อพนักงานอัยการศาลอาญาตลิ่งชัน เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าได้ติดตามไป และใช้รถเครื่องเสียงปราศรัยด่าทออย่างต่อเนื่อง บริเวณหน้าสำนักงานอัยการศาลอาญาตลิ่งชัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการคดีตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดี บช.น. ขอย้ำเตือนไปยังผู้ที่คิดก่อเหตุความไม่สงบ และผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยผิดกฎหมายว่า หากมีการก่อเหตุสร้างความเสียหายสร้างความเดือดร้อนในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวทุกราย และขอแจ้งเน้นย้ำว่าขณะนี้แม้กรุงเทพมหานครจะถูกปรับให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่การชุมนุมฯ หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ยังคงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 ม.ค.2565, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 1 พ.ย.2564 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
"จึงขอความร่วมมือประชาชน งดการร่วมกิจกรรมการชุมนุมต่างๆ เพื่อความสงบสุข และความปลอดภัยโดยรวมของประเทศชาติและประชาชน" รองโฆษก บช.น.กล่าว