มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา "เลือกตั้งผู้ว่าฯ แก้ปัญหาคนกรุง" โดยมี 5 แคนดิเดทผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายสกลธี ภัททิยกุล และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ภายใต้หัวข้อ "กทม.ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว?"
นายสุชัชวีร์ ได้โชว์วิสัยทัศน์ว่าหากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะทำ คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการเปิดไฟจราจร และการควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีให้ครอบคลุมและช่วยลดปัญหาการทำผิดกฏจราจร หรือทำผิดกฏหมายได้
สำหรับการแก้ปัญหาจราจร และการใช้รถใช้ถนน ต้องยอมรับว่ามีคนใช้รถส่วนตัวมากกว่าใช้บริการรถเมล์ และจะให้คนเปลี่ยนไม่ใช้รถในทันทีคงเป็นไปไม่ได้ แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอันดับแรก จะมีการขอคืนพื้นผิวจราจรกลับมาอย่างน้อย 1 ช่องจราจร
ส่วนเรื่องค่าโดยสารขนส่งสาธารณะที่แพงนั้น จะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นรถเมล์ไฟฟ้า และทำให้รถเมล์วิ่งระยะสั้นขึ้น โดยตั้งใจทำให้ค่าใช้จ่ายรถเมล์ไฟฟ้า 12 บาทต่อเที่ยว และรถไฟฟ้า 20 บาทต่อเที่ยว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะทำหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ จะมีการเปิดบันทึกข้อตกลงสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้คนกทม.ได้รู้ข้อเท็จจริง เพราะคนกทม.กลายเป็นคนถูกปกครอง ไม่คำนึงเสียงคนกทม. จะมีการเปิดสัญญาก่อสร้างต่างๆ ที่เลยกำหนดสัญญาแต่ไม่กล้าปรับเงินนายทุน รวมถึงเข้าไปแก้ปัญหาโรงกำจัดขยะที่เขตประเวศ สร้างความเดือดร้อนให้คนกทม. และประชาชนสงสัยว่า บริษัทที่รับเหมาเป็นเครือข่ายนายทหารระดับสูง
การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากต้นตอของปัญหาที่แท้จริง อย่างในเรื่องปัญหารถเมล์ ไม่มีการพัฒนามา 30 ปี และการพัฒนารถเมล์อาจทำให้นายทุนไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น และผู้ที่มีอำนาจก็ไม่ได้ใช้รถเมล์ในการเดินทาง และทำให้รถเมล์เป็นการเดินทางสำหรับคนยากจนเท่านั้น จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพรถเมล์ และควรตั้งเป้าให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง และเราต้องมีการพัฒนาเส้นทางรถเมล์ให้ดี เพราะเส้นทางการเดินรถที่ดีจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของย่านนั้น แต่ทุกวันนี้การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจไปกระจุกตัวเฉพาะห้างสรรพสินค้า และควรให้ กทม.ขออนุญาตกรมขนส่งทางบก ไม่ต้องขึ้นกับขสมก.อีกต่อไป เพื่อทำให้เส้นทางที่ผ่านที่พักอาศัยป้อนคนเข้าสู่รถไฟฟ้าได้ และทำให้คลี่คลายปัญหาจราจรได้ทำให้ระบบการขนส่งเข้มแข็งเป็นที่พึ่งพาของคนทุกคนได้
ส่วนปัญหาน้ำท่วม ปัญหาสำคัญ คือ การประมูลจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีการจ้างช่วงต่อ มีการฟันหัวคิว จนไม่สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ มีการติดสินบนและตรวจรับงานที่ไม่มีคุณภาพ แต่วันนี้เราต้องมีการลอกท่อทั่วเมือง และลอกคลองทั่วกรุงให้ได้ มีการตัดงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วม
การปรับปรุงพื้นที่สีเขียว ต้องคืนพื้นที่สนามหลวงเป็นพื้นที่พักผ่อนมากขึ้น และนำพื้นที่ราชพัสดุของทหารมาให้กทม.เช่าพื้นที่ เพื่อทำพื้นที่สาธารณะ
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่ทำ คือ ต้องมีการปรับ mind set ของข้าราชการกทม. 8 หมื่นคนมาเป็นแนวร่วม มาช่วยกันตอบโจทย์ประชาชน เข้าใจจิตใจประชาชน ปรับการบริการประชาชนตอบสนองประชาชนผ่านเทคโนโลยี ลดต้นทุนการให้บริการ และหาแนวทางทำให้ประชาชนเป็นแนวร่วม ทำให้เป็นเมืองที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ มองว่า การทำให้กทม.เป็นเมืองระดับโลก เป็นเมืองที่น่าอยู่ไม่ใช่เรื่องยาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน และคนรุ่นใหม่อย่าเพิ่งหมดหวังในกทม.
นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำให้นโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เป็นงานที่ยากและท้าทาย ซึ่งวิสัยทัศน์ของทีมงานของตนเองคือ การทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน และออกมาเป็น 9 นโยบายหลัก ซึ่งสามารถตอบสนองคนทุกกลุ่ม และกำหนด 200 นโยบาย ให้กับข้าราชการกทม. 8 หมื่นคน สามารถเริ่มทำงานได้ทันที
ด้านการคมนาคมขนส่ง คนที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้ามีความสะดวกสบาย แต่พอมาเจอทางเดินเท้ากลับไม่ได้คุณภาพ รถเมล์ไม่ถึง การแก้ปัญหาจราจร ทำเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ทำรถเมล์เชื่อมไปยังชุมชน มีการปรับปรุงฟุตบาทไปถึงรถไฟฟ้าต้องทำให้ดี ซึ่งหากตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องฟุตบาททางเท้าหรือทางม้าลายเพียง 1 เดือนก็ทำสำเร็จได้ เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย
สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำ ต้องแก้ที่เส้นเลือดฝอย ต้องมีการขุดลอกคูคลอง ขุดลอกท่อระบายน้ำให้เต็มที่ ประตูระบายน้ำต้องมีอุปกรณ์ให้ครบ
ส่วนพื้นที่สีเขียว ต้องการพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน พื้นที่ราชการ พื้นที่วัด ให้เด็กใช้พื้นที่สีเขียวได้ และมีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น แต่ต้องการเป็นกิจกรรมปลูกพื้นที่สีเขียวในใจคน
สำหรับเรื่องสุขภาวะ กทม.อาจมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก แต่ศูนย์สาธารณสุข หรือเส้นเลือดฝอยยังอ่อนแอมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับระบบศูนย์สาธารสุข มีการขยายเตียงไปยังชุมชน ปรับแนวคิดเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยให้ใกล้เคียงกัน
นายสกลธี กล่าวว่า หากได้เป็นผู้ว่ากทม. วันแรกจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการงาน นอกจากนี้ จะบริหารงานโดยการแจกแจงงบประมาณให้ทั่วถึง และมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากปัญหาของประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน นโยบายจึงต้องดูความต้องการของชุมชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ กทม. มีงบประมาณค่อนข้างจำกัด ดังนั้น กทม. จึงควรหารายได้เพิ่มจากทรัพย์สินที่กทม. มี นอกจากนี้ ต้องมีการแก้กฎหมาย หรือเพิ่มข้อบัญญัติ เพื่อให้การบริหารงานสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น เช่น เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการเรื่องขยะ เพื่อให้กทม. มีงบประมาณไปบริหารงานอื่น และลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากทม. จะดีกว่านี้ได้ หากมีการบริหารจัดการที่ดี โดยหากได้ป็นผู้ว่ากทม. จะนำงบประมาณของกทม. ไปแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาจราจร โดยที่ผ่านมาการทดลองนำ AI มาใช้ในการสอดส่องพื้นที่บนถนนแทนที่มนุษย์ เนื่องจากสายตามนุษย์อาจไม่สามารถมองได้ไกลเท่าระบบเทคโนโลยี เช่น การนำระบบ AI มาใช้กับการตรวจจับอุบัติเหตุ และการทำผิดกฎหมายบนท้องถนน และทางเท้า
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากจำนวนรถไม่สัมพันธ์กับถนน จึงต้องแก้ไขโดยการให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่เคยดำเนินการ คือ เชื่อมการเดินทาง โดยจุดที่รถสาธารณะเดินทางไปไม่ถึง ก็จะเสริมด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อรับผู้โดยสารไปส่งยังขนส่งสาธารณะอื่นๆ ต่อไป เช่น รถไฟฟ้า หรือท่าเรือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งหมดของกทม. และเมื่อมีความสะดวกสบายมากขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
ในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียวเดิมก็ควรพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้น ส่วนการสร้างพื้นที่สีเขียวใหม่ สามารถใช้พื่นที่รกร้าง หรือพื้นที่ที่ประชาชนบุกรุก มาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในทุกๆ เขตได้
"ผมเชื่อว่ากทม. ดีกว่านี้ได้ โดยผมเองได้มีโอกาสทำงานเป็นรองผู้ว่า กทม. หรือได้ฝึกงานมาแล้ว 4 ปี ถ้าได้เป็นผู้ว่ากทม. ก็จะทำงาน ลงพื้นที่ และมีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่" นายสกลธี กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวว่า หากได้เป็นผู้ว่า กทม. สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากขาดรายได้ ไม่มีงานทำ ดังนั้น กทม. จึงควรเริ่มแก้ปัญหาจากจุดนี้ เช่น แจกจ่ายอาหารให้ทั่วถึง นำเงินบริจาคกระจายตามร้านอาหารต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้สามารถทานอาหารได้ฟรี เป็นต้น
นอกจากนี้ กทม. ควรเข้าไปมีบทบาทร่วมกับชุมชนมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น การทำ Community Isolation ของแต่ละชุมชนด้วยกำลังคนของชุมชน โดยที่กทม. ไม่ได้เข้าไปมีบทบาท เป็นต้น
น.ส.รสนา ยังกล่าวถึงปัญหาของการบริหารงานของกทม. ว่า ควรมีการบริหารงานแบบกระจายทั้งอำนาจ และงบประมาณไปยัง 50 เขตมากกว่านี้ และต้องมีการแก้ปัญหาในแต่ละเขตร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ปัญหาถูกแก้อย่างตรงจุด
น.ส.รสนา กล่าวว่า ปัญหาของกทม. คือ การสร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่รู้จักภูมินิเวศของกทม. ซึ่งเป็นเมืองน้ำ จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างที่เห็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อคูคลองที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังหัวใจ หรือก็คือก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ ดังนั้น จึงควรแก้ปัญหาโดยการโละคลองทุกสาย เพื่อเป็นการระบายน้ำท่วม โดยการแก้ปัญหาด้วยการการโละคลองนั้น ใช้งบประมาณน้อย และยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น ปลูกผักอินทรีย์ หรือสร้างตลาดน้ำ เป็นต้น
นอกจากปัญหาน้ำท่วม กทม. ยังประสบกับปัญหาผังเมือง ที่ปัจจุบันมีการขยายผังเมืองออกไปมากเกินไป โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมในส่วนนี้ เพื่อไม่ให้เมืองมีความแออัดมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวที่มีจำนวนน้อยกว่ามาตรฐานโลก ที่กำหนดว่าต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตร/คน ขณะที่กทม. มีเพียง 6 ตารางเมตร/คน เท่านั้น
"กทม. คือทีมแม่บ้าน ดิฉันสมัครเป็นหัวหน้าทีมแม่บ้าน ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้ตรงจุด ด้วยการวางแผน และเปิดโอกาสให้ประชาชนบอกกล่าวถึงปัญหา โดยที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยมีผู้ว่ากทม. ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของครอบครัว ที่จะเข้ามาทำที่วางแผนการใช้เงินให้ชาวกทม. ด้วยนโยบายลดรายจ่าย สร้างรายได้ และดิฉันจะเป็นตัวแทนของอำนาจของผู้ไร้อำนาจ" น.ส.รสนา กล่าว