ยอดการรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 7-13 มี.ค.มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น 22 คน แบ่งเป็นสาขารัฐศาสตร์ 12 คน และสาขานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน
ผู้สมัครสาขารัฐศาสตร์ ได้แก่ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, นายจเด็จ อินสว่าง อดีตปลัด ก.ท่องเที่ยวและกีฬา, นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีต กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), นายสามารถ ศรียานงค์ อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.), นายวิทย์ ลิมานนท์วราไชย อดีตผู้ว่าฯ มหาสารคาม
พล.ท.เดชพันธุ์ ดวงรัตน์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการทหารสูงสุด, นายจิรศักดิ์ เกษณียบุตร อดีตผู้ว่าฯ อุบลราชธานี, นายเฉลิมพล เอกอุรุ อดีตรองปลัด ก.ต่างประเทศ, นายวิจิตร วิชัยสาร อดีตผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี, นายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา, นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าฯ ปทุมธานี, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ อดีตจเรทหารทั่วไป
ผู้สมัครสาขานิติศาสตร์ ได้แก่ นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการการเลือกตั้ง(กกต.), นายมานิต วิทยาเต็ม อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4 และ พ.อ.พัฒนพงษ์ เกิดอุดม ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด
สำหรับโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 จะมีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน, ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง จำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง จำนวน 2 คน
ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนหลังนี้(ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ฯ) จะมาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คนเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยวุฒิสภาไม่มีอำนาจยับยั้ง
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--