นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.. และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ว่า ตนจะลงมติให้ใช้หมายเลขต่างกัน ตามที่เสนอไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 และในอนาคตอาจเป็นช่องทางที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นให้เป็นโมฆะได้
"ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 90 กำหนดให้พรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตก่อน ถึงมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งหลักการดังกล่าว ไม่สามารถปรับเป็นวิธีสมัครแบบเขตที่รอเบอร์ไว้ก่อน โดยอ้างว่าแล้วเสร็จ จากนั้นให้เปิดสมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เบอร์ที่ได้ภายหลังไปยกให้ผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้นๆ ได้ เพราะหากทำ จะเข้าทำนองวิถีศรีธนญชัย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นโมฆะได้" นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญ ระบุให้นำ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จัดทำแล้วเสร็จ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระพิจารณา แต่เป็นการพิจารณาในตัวอักษร แต่เมื่อปฏิบัติจริงในการเลือกตั้งจริงก็จะสุ่มเสี่ยงและจะเกิดความเสียหายตามมา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะ กมธ.ฯ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคพลังธรรมใหม่ คิดว่าการกำหนดเป็นเบอร์เดียวกันตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคพลังธรรมใหม่มากกว่าคนละเบอร์ แต่ด้วยเหตุผลทางกฎหมายจาก รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 90 และด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ที่ทางพรรคไม่สนับสนุนต่อการแลนด์สไลด์ ที่จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา และเกิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายตามมา
"ยืนยันที่จะลงมติไม่เห็นด้วยกับหลักการเบอร์เดียวทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย แต่ถ้า กมธ.เสียงข้างมาก ลงมติเลือกข้อเสนอของเพื่อไทย ทางผมจะสงวนคำแปรญัญติไปสู้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 2 ต่อไป เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ตัดสินใจร่วมกัน" นพ.ระวี กล่าว
ด้านนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่?) พ.ศ. ... เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ.ฯ วันที่ 30 -31 มี.ค. คงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แม้จะมีการนัดหมายลงมติใน 2 ประเด็นสำคัญ เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 หลังทำงานใกล้ชิดกับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้า จึงเข้าแอดมิดที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้ต่างหมายเลข เพราะจากประสบการณ์การเมืองของตน 26 ปี เห็นว่าปัจจัยที่ประชาชนจะเลือกผู้สมัคร ส.ส. ขึ้นอยู่กับการลงพื้นที่ การช่วยเหลือประชาชนเป็นประจำ ไม่ใช่ลงพื้นที่พบชาวบ้านเฉพาะตอนช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น หรือที่เรียกว่าเป็นผู้แทนที่ดีเมื่อตอนมีเบอร์ ดังนั้นไม่ว่าผู้สมัครส.ส. ที่ประชาชนตัดสินใจเลือกได้เบอร์อะไร ผู้เลือกตั้งจำ และสามารถกาคะแนนให้ได้
"การใช้เบอร์เดียวกัน 2 ระบบ มีข้อดีคือ ง่าย แต่มีข้อเสียที่สามารถใช้ลูกเล่นหรือแทคติกทางการเมือง หากการแก้ไขกติกาเลือกตั้งมีเจตนาเพื่อให้การตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่มีคุณภาพ ควรกำหนดแยกแบอร์ เพราะจะเป็นเครื่องวัดว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไหนที่ประชาชนไว้วางใจ และให้คะแนนนิยมผู้สมัครพรรคไหนมากกว่ากัน" นายอนันต์ ระบุ
ขณะที่ ในวันที่ 31 มี.ค. จะลงมติประเด็นการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ซึ่งประเด็นดังกล่าวตนและคณะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไข ทั้งนี้ ยืนยันว่าเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการลดอายุผู้ร่วมก่อตั้งพรรค จาก 20 ปี เป็น 18 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในพรรคการเมือง
ส่วนจะเสนอให้เลื่อนโหวตประเด็นคุณสมบัติผู้ร่วมจัดตั้งพรรคหรือไม่ นายอนันต์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กมธ.ฯ เบื้องต้นมองว่าหากในกมธ. มีคนเข้าร่วมไม่ถึง 30 คน ควรพิจารณาเลื่อน แต่หากมีผู้เข้าร่วม 45 คนควรเดินหน้าต่อ แม้การประชุมหรือลงมติจะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่การลงมติในประเด็นใดๆ ควรให้กมธ.มีส่วนร่วมมากที่สุด
อย่างไรก็ดี หาก กมธ. เดินหน้าลงมติและผลพิจารณาว่าข้อเสนอของตนไม่ผ่าน ในฐานะกมธ.ฯ มีสิทธิสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาต่อไปได้ เช่นเดียวกับการตัดสินประเด็นเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่ขณะนี้มีเสียงก้ำกึ่งกัน